แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นอุทธรณ์โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่1ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่1ไปแล้วย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นอุทธรณ์คดีสำหรับจำเลยที่1จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1มิได้เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังนี้เมื่อจำเลยที่1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ไม่มีหนี้จะให้จำเลยที่2ในฐานะผู้ใช้มอบหมายให้จำเลยที่2กระทำในหน้าที่ราชการมาร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไปปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่2จะมิได้ฎีกาแต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ประกอบมาตรา246,247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สังกัดกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปในหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2ตัดหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6713 ราชบุรี ในระยะกระชั้นชิด ทั้งไม่ให้สัญญาณใด ๆ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6713 ราชบุรี ทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6713 ราชบุรี ได้รับความเสียหายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจัดการซ่อมรถคันดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน104,328.38 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี คิดจากต้นเงิน 100,903 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทแต่เหตุเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6713 ราชบุรี ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินควร ค่าซ่อมรถไม่เกิน 30,000 บาท ค่าจ้างลากรถไม่เกิน 700 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ แต่มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 50,450.50 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 600 บาท นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม2531 ต้นเงิน 20,434.50 บาท นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2531และต้นเงิน 24,417 บาท นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน31.07 บาท และ 888.04 บาท ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ใช้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำในหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไปแล้วการทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นอุทธรณ์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 176 ดังนั้นคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นนี้ก็ไม่มีหนี้จะให้จำเลยที่ 2มาร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะกลับวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทและพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ได้ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา142 (5) ประกอบ มาตรา 246, 247
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์