คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกบ้านพิพาทโดยอ้างกรรมสิทธิ์ตามพินัยกรรมของบิดาโจทก์จำเลยต่อสู้ว่าได้ซื้อบ้านพิพาทไว้จากบิดาโจทก์ มิได้ต่อสู้อ้างเหตุว่าจำเลยเป็นภรรยาทายาทผู้รับมรดกของบิดาโจทก์อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับอายุความฟ้องเกิน 1 ปีเช่นนี้ คดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับอายุความมรดกเพราะคนภายนอกมายกอายุความมรดกต่อสู้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดาโจทก์เช่าที่ดินราชพัสดุของกองรักษาที่หลวงกระทรวงการคลังปลูกบ้านอยู่ 1 หลัง และได้ให้จำเลยที่ 2-3-4 เข้าอยู่อาศัย บิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์ ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม แต่จำเลยที่ 1 ได้เอาที่พิพาทให้จำเลยที่ 2-3 เช่า โจทก์คัดค้านการเช่าไปยังจำเลยที่ 1 เพื่อให้โจทก์เป็นผู้เช่าแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2-3 ขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2-3 ให้จำเลยที่ 1ยอมให้โจทก์เป็นผู้เช่าแทน ให้แสดงว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ขับไล่จำเลยที่ 2-3-4 ออกไปและขอให้จำเลยที่ 2-3-4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์รายเดือน ๆ ละ 1,000 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากบ้านโจทก์

จำเลยที่ 2-3-4 ให้การว่า จำเลยซื้อบ้านพิพาทไว้จากบิดาโจทก์และครอบครองมากกว่า 10 ปีแล้ว บิดาโจทก์มีสติวิปลาศขณะทำพินัยกรรมการเช่าที่ดินทำโดยสุจริตฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดก และฟ้องแย้งขอให้แสดงว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง และขอให้แสดงว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2-3 เป็นสัญญาที่สมบูรณ์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับจำเลยที่ 2-3 มีเงื่อนไขว่า หากจำเลยที่ 2-3 แพ้คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทในที่เช่า ก็ยอมเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1

โจทก์ขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อตัดฟ้องของจำเลยเรื่องอายุความนั้น คดีนี้ไม่ใช่เรื่องขอแบ่งมรดกของบิดาโจทก์ จะนำเอาอายุความมรดกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้ไม่ได้ และวินิจฉัยว่า บิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่โจทก์จริง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์เพราะขณะทำพินัยกรรม บิดาโจทก์มีสติไม่ปรกตินั้นเป็นการนอกประเด็น เพราะประเด็นมีเพียงว่าได้ทำพินัยกรรมจริงหรือไม่เท่านั้น แต่ก็ฟังว่าขณะทำพินัยกรรมมีสติดี บ้านพิพาทเป็นของบิดาโจทก์ มิได้ขายให้แก่จำเลยที่ 3-4 พิพากษาว่าบ้านพิพาทตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากบ้านพิพาท

จำเลยที่ 2-3-4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2-3-4 ฎีกา

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว จำเลยตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องภายหลังบิดาโจทก์ตายเกินกว่า 1 ปีนั้นศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกบ้านพิพาทโดยอ้างกรรมสิทธิ์ตามพินัยกรรมของบิดาโจทก์ จำเลยที่ 3-4 ต่อสู้ว่าได้ซื้อเรือนพิพาทไว้จากบิดาโจทก์ จำเลยมิได้ต่อสู้อ้างเหตุว่า จำเลยที่ 2 เป็นภรรยาทายาทผู้รับมรดกของบิดาโจทก์อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับอายุความฟ้องเกิน 1 ปีไว้ ณ ที่ใดเลย เป็นแต่จำเลยต่อสู้ว่า ได้ซื้อเรือนพิพาทไว้จากบิดาโจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ตั้งประเด็นมาดังนี้แล้วแม้ความจะปรากฎในคำพยานหรือคำวินิจฉัยของศาลล่างตอนหนึ่งตอนใดก็ดีก็เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นทั้งสิ้น ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยอย่างใดเลย เพราะคนภายนอกมายกอายุความมรดกต่อสู้ไม่ได้

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทโดยครอบครองมาเกิน10 ปีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 238 ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดาโจทก์ จำเลยเป็นผู้อาศัย ฎีกาจำเลยข้อนี้โต้แย้งข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share