คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความและขอให้หักผลประโยชน์ไว้ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลยที่ 2 มาขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาย่อมต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคแรก ที่ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้ชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 และให้คืนเงินแก่โจทก์จำนวน 40,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน40,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความที่จะเรียกร้องให้จำเลยคืนราคาทรัพย์แล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งจำเลยมิได้ให้การหรือนำสืบโต้แย้งไว้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องทางแพ่ง และขอให้หักผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับไว้แล้วระหว่างครอบครองที่ดินพิพาท นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 40 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคือ แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความและขอให้หักผลประโยชน์ไว้ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลยที่ 2 มาขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาให้ย่อมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ที่ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้ชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
พิพากษายืน

Share