คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่โจทก์เรียกมาในฟ้องคือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาเช่าซื้อซึ่งจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดดังกล่าวเป็นวิธีกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งอันมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ฉะนั้น ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินควรจึงอาจกำหนดขึ้นใหม่ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก โจทก์ใช้เวลา 4 เดือนติดตามเอารถยนต์คืนได้ โจทก์ขาดประโยชน์ 36,000 บาทเสียค่าใช้จ่ายในการติดตาม 1,425 บาท และค่าเสื่อมราคาที่โจทก์นำรถยนต์ออกขายได้เงินไม่ครบค่าเช่าซื้อโดยขาดไป 115,200 บาทแต่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 116,625 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่าผู้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อมิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์รถยนต์อยู่ในสภาพดี โจทก์มิได้เสียค่าใช้จ่ายในการติดตาม จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคดีขาดอายุความและโจทก์มิได้ทวงถาม ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยค้างค่าผ่อนชำระ 4 งวด โจทก์จึงนำรถยนต์คืนไปขาย ขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายโดยยอมสละข้อต่อสู้อื่น ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์รวม 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามรถรวมจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ค่าเสื่อมราคาที่เรียกร้องมาในฟ้องก็คือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 นั่นเอง ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจกำหนดขึ้นใหม่ได้ถ้าเห็นว่าสูงเกินควร ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยค่าเสื่อมราคาไม่ใช่ค่าเสียหายจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อคู่ความแถลงรับกันให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายไปได้ โดยยอมสละข้อต่อสู้อื่นแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาพิจารณาลงวันที่ 1 มิถุนายน 2527 ศาลจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าเสียหายในเรื่องค่าเสื่อมราคานี้ได้ตามที่เห็นสมควรโดยมิพักต้องสืบพยาน ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสื่อมราคาไว้เป็นจำนวน 55,000 บาท และคู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาในเรื่องจำนวนมากน้อยแต่อย่างใดนั้น เหมาะสมแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชันอุทธรณ์และชั้นฎีกาโดยกำหนดเป็นค่าทนายความรวม 1,500 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share