คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6069/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามโดย ค. มารดาได้ขอให้จำเลยในฐานะนายทะเบียนอำเภอลงชื่อและสัญชาติไทยแก่โจทก์ทั้งสามลงในทะเบียนบ้าน จำเลยไม่ยอมลงโดยเห็นว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรคนญวนอพยพเข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสาม ที่จำเลยออกคำสั่งแจ้งให้ ค. ไปยื่นคำร้องขอมีสัญชาติที่สำนักงานจังหวัดโดยตรงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการก็เป็นการกระทำที่ทำให้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม แต่ไม่ทำให้กลายเป็นไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ ดังนี้โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ไม่มีบิดาโดยชอบดด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามมีสัญชาติไทยโดยการเกิด อาศัยอยู่กับมารดามีภูมิลำเนาอยู่เลขที่ 743 หมู่ที่ 1 ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัยจังหวัดหนองคาย โจทก์ทั้งสามได้ขอมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 743ดังกล่าว แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยให้จดชื่อโจทก์ทั้งสามลงไว้ในทะเบียนบ้านเลขที่ 743 หมู่ที่ 1 ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัยจังหวัดหนองคาย โดยระบุว่าโจทก์ทั้งสามมีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายดุก ฟามวัน ซึ่งมีบัตรประจำตัวเป็นคนญวนอพยพกับนางคำ วูวัน เมื่อเดือนตุลาคม 2529 โจทก์ทั้งสามโดยนางคำ มารดา ได้ยื่นคำร้องตามสำเนาคำร้องเอกสารหมาย จ.3ต่อจำเลยในฐานะนายทะเบียนอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ขอให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามลงในทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 และนางคำได้ให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่อำเภอโพนพิสัย ตามบันทึกปากคำเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยปฏิเสธโดยไม่ยอมลงชื่อโจทก์ทั้งสามในสำเนาทะเบียนบ้านตามคำร้อง แต่ให้นางคำไปยื่นคำร้องขอมีสัญชาติที่สำนักงานจังหวัดหนองคาย พร้อมได้ส่งบันทึกปากคำนางคำไปให้ทางจังหวัดหนองคายเพื่อส่งกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ตามสำเนาคำร้องเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499มาตรา 5 มาตรา 28 และมาตรา 35 จำเลยเป็นนายทะเบียนอำเภอมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดทำทะเบียนบ้านในหน้าที่ของตนไว้ทุกบ้าน และจัดทำทะเบียนคนทุกคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของแต่ละอำเภอและเมื่อมีการเพิ่ม ลด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้แก้ทะเบียนคนให้ถูกต้อง เมื่อตามข้อเท็จจริงได้ความจากข้ออ้างของโจทก์ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนายดุก ฟามวัน กับนางคำ วูวันเกิดในประเทศไทย ตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.1 สำเนาทะเบียนบ้านหมาย จ.2 บันทึกให้ปากคำของนางคำ เอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ทั้งสามโดยนางคำ มารดาได้ขอให้จำเลยในฐานะนายทะเบียนอำเภอลงชื่อและสัญชาติไทยแก่โจทก์ทั้งสามลงในทะเบียนบ้าน จำเลยไม่ยอมลงโดยเห็นว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรคนญวนอพยพเข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 จำเลยแจ้งให้นางคำไปยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยแทนการรับจดทะเบียนให้ เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีสัญชาติไทย การกระทำของจำเลย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์ทั้งสามพึงมีพึงได้แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำขอของโจทก์มีลักษณะเป็นการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2499 มาตรา 31 อันจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5พ.ศ. 2516 ถ้าเป็นกรณีขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสัญชาติให้นายทะเบียนอำเภอสอบสวนพยานหลักฐานแล้วเสนอตามลำดับเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัตินั้น เห็นว่า การที่จำเลยออกคำสั่งแจ้งให้นางคำไปยื่นคำร้องขอมีสัญชาติที่สำนักงานจังหวัดหนองคายโดยตรงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการก็ตามแต่ก็เป็นเพียงการกระทำที่ทำให้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเท่านั้น แต่ก็ไม่ทำให้กลายเป็นไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ไปไม่โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย…”
พิพากษายืน.

Share