คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ รายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทยข้อ 17 และ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) ย่อมเห็นได้ว่า การคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีสิทธินับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) แต่ผู้มีสิทธินับเอาประโยชน์จากเวลาทำงานช่วงหลังที่กลับเข้าทำงานใหม่ไปรวมกับเวลาทำงานช่วงแรกตามมาตรา 30(จ) ได้จะต้องเป็นผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติอยู่แล้วเมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับ เงินสงเคราะห์รายเดือนโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) เงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวจึงมีสภาพ เช่นเดียวกับเงินบำนาญปกตินั่นเอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4)บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องเงินบำนาญ มีกำหนดอายุความ 5 ปีแต่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 10 บัญญัติให้สิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความ 3 ปี และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494เป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงให้นำอายุความตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับ โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุตั้งแต่วันที่30 กันยายน 2536 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 จึงมิได้ฟ้องเรียกเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติเฉพาะส่วนที่อ้างว่าขาดภายในกำหนด 3 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่16 พฤษภาคม 2496 ตำแหน่งเสมียน และเกษียณอายุเมื่อวันที่30 กันยายน 2536 ระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 รวมเวลา 5 ปี โจทก์ยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยเปลี่ยนระดับโทษเป็นตัดเงินเดือนร้อยละ10 มีกำหนด 3 เดือน แสดงว่าคำสั่งเลิกจ้างหรือคำสั่งลงโทษถูกยกเลิกหรือเพิกถอนไป ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงกลับคืนสภาวะเดิมเสมือนไม่มีคำสั่งนั้นมาก่อน โจทก์มีเวลาทำงานปกติถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ก่อนถูกจำเลยให้ออกจากงานเป็นเวลา 32 ปี 9 เดือน 16 วัน และมีเวลาทำงานทวีคูณตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 8 ปี รวมเวลาทำงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนเป็นเวลา 40 ปี 9 เดือน 16 วัน(41 ปี) โจทก์กลับเข้าทำงานใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์2534 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,610 บาท มีเวลาทำงานปกติเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน11 วัน และมีเวลาทำงานทวีคูณ ในกฎอัยการศึกเป็นเวลา 2 เดือน8 วัน รวมเวลาทำงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 19 วัน (3 ปี) โจทก์จึงมีเวลาทำงานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนทั้งสิ้นเป็นเวลา 44 ปีเมื่อโจทก์เกษียณอายุจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เดือนละ8,264.60 บาท ตามข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยข้อ 17 และโจทก์ทำหนังสือบอกเลิกรับเงินสงเคราะห์รายเดือนภายใน 30 วัน นับแต่วันกลับเข้าทำงานใหม่ แต่จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนให้โจทก์เพียงเดือนละ 4,864.18 บาทโดยคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนให้โจทก์เป็นสองช่วง ช่วงแรกคำนวณจากวันที่ 16 พฤษภาคม 2496 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2529ครั้งหนึ่ง และช่วงที่สอง คำนวณจากวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534ถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 อีกครั้งหนึ่งซึ่งไม่ถูกต้อง จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนให้โจทก์ขาดไปเดือนละ 3,396.42 บาทคิดจากวันเกษียณจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 176,613.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนจำนวน 176,613.84 บาทแก่โจทก์และจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนเพิ่มให้โจทก์อีกเดือนละ3,396.42 บาท รวมเป็นเงินสงเคราะห์รายเดือน เดือนละ8,264.60 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนตลอดชีวิตโจทก์หากจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยต้องนับระยะเวลาทำงานของโจทก์ทั้งสองช่วงรวมกันเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 มาตรา 30 วรรคสาม (จ) นั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ข้อ 1 จำเลยนับอายุงานโจทก์เพื่อคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนถูกต้องและจะต้องจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ข้อ 2 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อ 2 เสียก่อนว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 17 และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) เห็นได้ว่า การคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีสิทธินับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 30(จ) แต่ผู้มีสิทธินับเอาประโยชน์จากเวลาทำงานช่วงหลังที่กลับเข้าทำงานใหม่ไปรวมกับเวลาทำงานช่วงแรกตามมาตรา 30(จ) ได้จะต้องเป็นผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติอยู่แล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 30(จ) เงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวจึงมีสภาพเช่นเดียวกับเงินบำนาญปกตินั่นเองที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4)ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4) บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องเงินบำนาญ มีกำหนดอายุความ 5 ปี แต่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 10 บัญญัติให้สิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความ 3 ปี และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 เป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงให้นำอายุความตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุตั้งแต่วันที่30 กันยายน 2536 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติได้ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/12 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541จึงมิได้ฟ้องเรียกเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติเฉพาะส่วนที่อ้างว่าขาดภายในกำหนด 3 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share