แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาว่า ห้องพิพาทเป็นส่วนควบกับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1เช่ามาจาก จ. ไม่ได้ซื้อมาจาก บ. ห้องพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ห้องพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ฎีกาโจทก์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าห้องพิพาทมีราคาไม่เกิน 15,000 บาท แม้รวมกับค่าเสียหายจำนวน 24,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ก็ไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินกับห้องพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสามโดยการครอบครอง-ปรปักษ์ ปัญหาว่าห้องพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสามหรือไม่ จึงเป็นประเด็นในคดีโดยตรง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ในห้องพิพาทโดยให้จำเลยรื้อถอนออกไปได้ตามฟ้องแย้ง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสามแล้วสั่งว่า จำเลยทั้งสามยังไม่ได้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังโจทก์มิได้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งจึงต้องถือว่ายุติ กรณีมิใช่สั่งอนุญาตขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสาม ข้อความที่จำเลยทั้งสามฎีกาได้กล่าวโดยละเอียดถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยแจ้งชัดตรงตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่เป็นฎีกาเคลือบคลุม