คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อเป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่งที่กำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ซึ่งจะต้องปฎิบัติต่อกันหากฝ่ายใดปฎิบัติผิดสัญญาเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหายฝ่ายที่ปฎิบัติผิดสัญญาจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การผิดสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา222วรรคหนึ่งดังนั้นแม้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จะไม่มีข้อสัญญาที่กำหนดว่าหากนำรถที่เช่าซื้อออกขายไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดก็ตามแต่ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้จำเลยที่1ต้องรับผิดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายต่างๆเมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อและนำเงินที่ได้มารวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่1ชำระให้โจทก์แล้วก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเช่าซื้อย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์ได้รับความเสียหายฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงได้รับและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว คดีที่ผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าภายในกำหนด6เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา563หมายถึงการฟ้องคดีในกรณีที่ผู้เช่าปฎิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไปเช่นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายแต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทและนำเงินไปรวมกับค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วยังได้เงินต่ำกว่าค่าเช่าซื้อตามสัญญาซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164เดิมที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คดีจึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยที่2ฎีกาว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่1เมื่อจำเลยที่1ผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่2มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 174,640 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาเงินสด335,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์แล้วจำนวน 85,000 บาทจึงเหลือเงินอีกจำนวน 250,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี เป็นเงิน 89,984 บาท จึงรวมเป็นค่าเช่าซื้อจำนวน 339,984 บาท ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้ว 9,440 บาท หลังจากนั้นไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 17พฤษภาคม 2533 ให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ชำระก็เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2533 แต่มิได้นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปให้แก่โจทก์ จึงถือว่าสัญญาเช่าเลิกซื้อกันตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2533 ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2533จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งคืนให้แก่โจทก์ รถยนต์ที่เช่าซื้อมีสภาพสมบูรณ์ โจทก์แจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะได้รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ให้ชำระเงินแก่โจทก์เป็นจำนวน300,000 บาท จำเลยที่ 1 ต่อรองราคาให้เหลือเพียง 290,000บาท และขอให้โจทก์โอนทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้มีชื่อโจทก์ไม่ยอมรับเงื่อนไขของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ภายหลังโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อขายให้แก่พรรคพวกของโจทก์ในราคาเพียง200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่รถยนต์ที่เช่าซื้อขณะนั้นมีราคาไม่ต่ำกว่า 290,000 บาท ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นเงิน 130,540 บาท นั้นไม่เป็นความจริงเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเช่าซื้อจากจำเลยได้อีก ค่าเช่าซื้อตามสัญญารวมดอกเบี้ยไว้ด้วย เมื่อคิดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่โจทก์จะให้จำเลยที่ 1 ซื้อคืนในราคา 300,000 บาท แล้วหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 300,000บาท โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเป็นเงินเพียง 200,000บาท จึงทำให้รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาขาดหายไปจำนวน 100,000บาท ถ้าโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปโดยสุจริต โจทก์จะได้รับเงินเพิ่มอีก 100,000 บาท มากกว่าค่าเสียหายจำนวน 50,000บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ขาดประโยชน์ที่ไม่อาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้บุคคลอื่นเช่ารวมเป็นเงิน 42,000 บาท นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ได้ประกอบกิจการให้บุคคลอื่นเช่ารถยนต์ การให้เช่ารถยนต์เป็นกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์เอง ที่โจทก์เรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำนวน 2,100 บาท นั้น จึงไม่เป็นความจริง ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเพราะเป็นการเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อทำสัญญาเช่าซื้อนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในราคารถยนต์ที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว นอกจากนี้โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงพ้นไปกว่า 6 เดือนนับแต่จำเลยส่งมอบรถยนต์คืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เนื่องจากโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดนอกจากนี้หลังจากสัญญาเช่าซื้อระงับไปแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1ซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรู้เห็นยินยอมด้วย หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึง เป็นอันระงับไปจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน29,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 มีนาคม 2534) เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 62,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูงเกินไป และกำหนดให้มากเกินกว่าระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายกับรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ชำรุดทรุดโทรมไม่เสื่อมสภาพในขณะที่โจทก์ได้รับรถคืน โจทก์จึงไม่เสียหายในส่วนนี้นั้นเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเดือนละ 6,000บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเป็นเวลา 6 เดือน2 วัน และรถยนต์ที่เช่าซื้อทรุดโทรมเสื่อมสภาพในขณะที่โจทก์ได้รับรถคืนจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อตามที่จำเลยที่ 1ทำสัญญาไว้เป็นค่าเสียหายที่มิได้กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ในลักษณะของค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่งที่กำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ซึ่งจะต้องปฎิบัติ ต่อกัน หากฝ่ายใดปฎิบัติ ผิดสัญญาเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย ฝ่ายที่ปฎิบัติ ผิดสัญญาจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การผิดสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น” แม้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.8 จะไม่มีข้อสัญญาที่กำหนดว่า หากนำรถที่เช่าซื้อออกขายไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดก็ตามแต่ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายต่าง ๆ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วย การที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อและนำเงินที่ได้มารวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว ก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.8 ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ฟังได้รับและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าค่าเสียหายในส่วนนี้ขาดอายุความหรือไม่ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติเรื่องอายุความในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำมาตรา 562 และ 563 ในลักษณะเช่าทรัพย์ที่มีอายุความ6 เดือน ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีนั้น เห็นว่า คดีที่ผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 หมายถึงการฟ้องคดีในกรณีที่ผู้เช่าปฎิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไปเช่นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลาย แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทและนำเงินไปรวมกับค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วยังได้เงินต่ำกว่าค่าเช่าซื้อตามสัญญา ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คดีจึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมผ่านเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share