แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทำหนังสือสัญญาซื้อขายเรือขนาด 19 ตันเศษโดยชำระราคาบางส่วน และว่าจะไปทำการโอนกันในวันหน้าแม้จะมอบเรือให้ผู้ซื้อแล้วก็ถือเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ใช่สัญญาซื้อขายเด็ดขาด และเป็นสัญญาที่ต้องฟ้องร้องบังคับตามสัญญาได้
การซื้อขายเรือขนาด 19 ตันเศษ ถ้าเพียงสัญญาจะซื้อขายย่อมไม่ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาควบคุมยานพาหนะทางน้ำ
ย่อยาว
ได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือสัญญาขายเรือช้างกระดานขาด ๑๙ ตันเศษให้แก่โจทก์ ชำระราคาในวันนั้น ๑๐๐๐ บาทอีก ๑๕๕๐ บาทจะชำระเมื่อจำเลยที่ ๑ได้ทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่ามาจัดการโอนให้โจทก์แล้วจำเลยมอบเรือให้โจทก์ไป ต่อมาจำเลยที่ ๑ โอนทะเบียนเรือให้แก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นบุตรโดยสมยอม โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทำลายการโอนเรือระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วจัดการโอนให้โจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การซื้อขายรายนี้เป็นซื้อขายเด็ดขาด การซื้อขายเรือเป็นขัดต่อพระราชกฤษฎีกาควบคุมยานพาหนะทางน้ำในภาวะคับขัน เพราะทำการซื้อขายกันโดยไม่ได้รับอนุญาตอธิบดีกรมเจ้าท่า การซื้อขายเป็นโมฆะ จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลย แล้วให้จำเลยที่ ๑ จัดการโอนเรือให้โจทก์
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องและตามหนังสือสัญญาแสดงว่า ในการทำหนังสือสัญญารับเงินล่วงหน้าและมอบเรือให้ผู้ซื้อไปก่อน ก็โดยผู้ขายเอาทะเบียนจากกรมเจ้าท่าไม่ได้ เมื่อได้ทะเบียนแล้วจึงจะจัดการโอนอันแสดงว่าผู้ซื้อผู้ขายยังจะต้องปฏิบัติ ตามสัญญา คือจะต้องไปขอโอนทะเบียนต่อกรมเจ้าท่า ซึ่งมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้พิจารณาตามประกาศรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สัญญารายนี้จึงไม่เป็นโมฆะและเป็นสัญยาจะซื้อจะขายที่สมบูรณ์ตามประมวลแพ่งมาตรา ๔๕๖ วรรค ๒ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์