คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในหนี้เงินกู้ที่ผู้ตายกู้ไปจากโจทก์ เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่าผู้ตายค้างชำระหนี้เงินกู้โจทก์จริงก็เป็นการเพียงพอที่ศาลจะบังคับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกและชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก ต้องรับผิดชำระหนี้ของผู้ตายแก่โจทก์ โดยความรับผิดนั้นไม่เกินกองทรัพย์มรดกส่วนทรัพย์มรดกผู้ตายมีพอชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องความรับผิดของกองทรัพย์มรดกอันเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี โจทก์ไม่จำต้องนำสืบปัญหาดังกล่าวในชั้นพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสนิท พุ่มพวง ผู้ตาย นายสนิทได้กู้และรับเงินไปจากโจทก์รวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2531วันที่ 17 พฤศจิกายน 2532 และวันที่ 29 ธันวาคม 2532 รวมเป็นเงิน28,000 บาท เมื่อครบกำหนดชำระหนี้โจทก์ติดต่อทวงถามให้นายสนิทชำระหนี้แล้ว แต่ได้รับการผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน2533 นายสนิทถึงแก่กรรม โจทก์ติดต่อทวงถามให้จำเลยผู้จัดการมรดกและผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนายสนิทชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันกู้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 35,915 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 22,500 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อนายสนิทถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกเพียงเงินโบนัสปกติจำนวน 13,500 บาทเท่านั้น ซึ่งจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้นำไปใช้จ่ายเป็นค่าทำศพของเจ้ามรดกไปจนหมดสิ้นแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสนิท พุ่มพวง ผู้ตายใช้หนี้เงินแก่โจทก์จำนวน 35,915 บาท จากกองมรดกของผู้ตายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 22,500 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายสนิท พุ่มพวง ผู้ตาย ตามเอกสารหมาย จ.1 ก่อนตายผู้ตายเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ตามสัญญากู้ 3 ฉบับ เป็นเงินรวม28,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ผู้ตายผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและค้างชำระดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ตลอดมาจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่กรรม คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การที่โจทก์ไม่สืบพยานให้ได้ความถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายว่า มีพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ จะเป็นเหตุให้จำเลยพ้นความรับผิดหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในหนี้จำนวนดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ผู้ตายค้างชำระหนี้เงินกู้โจทก์จริงก็เป็นการเพียงพอที่ศาลจะบังคับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกและชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก ต้องรับผิดชำระหนี้ของผู้ตายแก่โจทก์ โดยความรับผิดนั้นไม่เกินกองทรัพย์มรดกส่วนข้อที่ว่า ทรัพย์มรดกผู้ตายมีพอชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่นั้นเป็นเรื่องความรับผิดของกองทรัพย์มรดกอันเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีโจทก์ไม่จำต้องนำสืบปัญหาดังกล่าวในชั้นพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกผู้ตายชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกโดยความรับผิดไม่เกินกองทรัพย์มรดกนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share