คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6045/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร อ. แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งหมายความว่า จะต้องคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร อ. ที่ธนาคาร อ. มีการประกาศเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงทุกครั้งไป หาใช่ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันเริ่มต้นคิดคำนวณเป็นหลักตลอดระยะเวลา 12 เดือน เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงก็จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบในส่วนต่างของดอกเบี้ยอัตราที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดิน 794,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 ตุลาคม 2540) ต้องไม่เกิน 774,990 บาท และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ จำเลยนำเงิน 1,023,650.90 บาท มาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแบ่งเป็นเงินต้น 794,000 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2546 เป็นเงิน 229,650.90 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้อง น้อยกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของศาลคิดเป็นเงิน 45,263.44 บาท ขอให้เรียกจำเลยมาตรวจสอบการคิดดอกเบี้ยกับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบการคิดคำนวณดอกเบี้ยแล้ว มีคำสั่งให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเพิ่มตามที่เจ้าหน้าที่ศาลคำนวณได้เป็นเงิน 45,263.44 บาท แก่โจทก์
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยคิดคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารออมสิน ประเภทฝากประจำ 12 เดือน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2540 จนถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 12 เดือน และต่อ ๆ ไปเช่นนี้อีกจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้วางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีการวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 1,023,650.90 บาท โดยถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในวันเริ่มต้นของระยะเวลา 12 เดือน มาใช้เป็นฐานในการคิดคำนวณดอกเบี้ยตลอดระยะเวลา 12 เดือน เป็นรอบ ๆ ไปจึงถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มแก่โจทก์อีก 45,263.44 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยได้คิดดอกเบี้ยโดยใช้อัตราเดียวในแต่ละปี ซึ่งเป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคารออมสิน เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเงินต้นในกรณีนี้ไม่ใช่เงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคาร ดังนั้น จึงต้องคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามที่ธนาคารออมสินประกาศขึ้นลงทุกครั้งไป ตามที่เจ้าหน้าที่การเงินของศาลได้คิดไว้ เป็นเงินทั้งสิ้น 274,914.34 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มอีก 45,263.44 บาท ให้ตรวจจ่ายเงินจากค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยชำระไว้เกิน
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นคิดดอกเบี้ยตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำตามที่ธนาคารออมสินประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงในแต่ละช่วงตลอดเวลานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินฯ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งหมายความว่า จะต้องคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินที่ธนาคารออมสินมีการประกาศเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงตลอดเวลา หาใช่ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันเริ่มต้นคิดคำนวณเป็นหลักตลอดระยะเวลา 12 เดือน เป็นช่วง ๆ ไป ตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงก็จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันของคู่ความทั้งสองฝ่ายในส่วนต่างของดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นคิดดอกเบี้ยตามอัตราสูงสุดกของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำตามที่ธนาคารออกสินประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงในแต่ละช่วงตลอดเวลานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share