คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาจ้างมีสาระสำคัญว่า จำเลย “ผู้ว่าจ้าง” ตกลงจ้างโจทก์และจำเลยร่วม”ผู้รับจ้าง” ทำการก่อสร้างอาคารในราคา 10,700,000 บาท ตกลงชำระเงินล่วงหน้าร้อยละ 20 แก่ “ผู้รับจ้าง” เมื่อลงนามในสัญญา ค่าจ้างส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 6 งวดถือได้ว่าสัญญาจ้างดังกล่าวกำหนดให้โจทก์และจำเลยร่วมมีฐานะเป็น “ผู้รับจ้าง” ทำการก่อสร้างอาคารโดยมิได้แบ่งแยกว่าจะทำการก่อสร้างอาคารส่วนใดอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และค่าจ้างก็กำหนดชำระเป็นงวด มิได้ระบุว่าจะชำระให้แก่โจทก์และจำเลยร่วมคนละเท่าใด คงชำระรวมกันไป แม้จำเลยจะชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โจทก์และจำเลยร่วมคนละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวดก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกแก่โจทก์และจำเลยร่วมเท่านั้น โจทก์และจำเลยร่วมยังคงมีฐานะเป็น “ผู้รับจ้าง” และเจ้าหนี้ร่วมในหนี้ค่าจ้างอยู่เช่นเดิมจำเลยในฐานะลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้คนใดก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 298 ดังนั้นเมื่อจำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 ให้แก่จำเลยร่วมแล้ว จึงเป็นการชำระหนี้โดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 จากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์และบริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิสจำกัด ก่อสร้างอาคาร ตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละ 20 ของค่าจ้าง ส่วนที่เหลือแบ่งจ่ายเป็น 6 งวด โดยจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์และบริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิสจำกัด ฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด ต่อมาจำเลยจ่ายเงินล่วงหน้าและค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แก่โจทก์และบริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ฝ่ายละครึ่ง แต่ค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 จำนวน 1,500,000 บาท และ 1,800,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่บริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับในงวดที่ 4 และที่ 5 จำนวน 750,000 บาท และ 900,000 บาท ตามลำดับแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,968.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,660,968.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์และบริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ตกลงให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์และบริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด ต่อมาโจทก์ละทิ้งงาน บริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ดำเนินการก่อสร้างเพียงฝ่ายเดียว จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 ให้แก่บริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทที.อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิสจำกัด เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า งานในงวดที่ 4 และที่ 5 โจทก์ได้ทิ้งงาน จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 ให้แก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างเพียงฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์และจำเลยร่วมให้ก่อสร้างอาคารในราคา 10,700,000 บาท ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันส่งมอบสถานที่ก่อสร้าง แบ่งการชำระค่าก่อสร้างออกเป็นงวดรวม 6 งวด ในทางปฏิบัติจำเลยจะชำระค่าจ้างแก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด จำเลยได้ชำระเงินล่วงหน้าและค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 แก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวดเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนงานงวดที่ 4 และที่ 5 จำเลยร่วมทำหนังสือส่งมอบงานให้จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 แก่จำเลยร่วมไปทั้งหมด คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ในการชำระค่าจ้างนั้น จำเลยจะแยกชำระแก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด โจทก์และจำเลยร่วมไม่มีความประสงค์ที่จะให้หนี้ค่าจ้างมีลักษณะเป็นหนี้ร่วม โจทก์และจำเลยร่วมมิใช่เจ้าหนี้ร่วม ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 แก่จำเลยร่วมเพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องชำระแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างแต่ละงวดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างมีสาระสำคัญว่าสัญญาจ้างฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่า”ผู้ว่าจ้าง” ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยร่วมและโจทก์ซึ่งสองบริษัทต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้รับจ้าง”อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างผู้รับจ้างทำการก่อสร้างอาคารเป็นเงินทั้งสิ้น 10,700,000บาท ผู้ว่าจ้างจะชำระเงินล่วงหน้าร้อยละ 20 แก่ผู้รับจ้าง เมื่อลงนามในสัญญาฉบับนี้ส่วนค่าจ้างที่เหลือผู้ว่าจ้างแบ่งชำระเป็นงวด รวม 6 งวด ดังนี้ จะเห็นได้ว่าข้อความในสัญญากำหนดให้โจทก์และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นอย่างเดียวกันคือ “ผู้รับจ้าง” เพราะงานที่จะกระทำต่อไปคืองานก่อสร้างอาคารที่มิได้แบ่งแยกว่าจะทำการก่อสร้างอาคารส่วนใดอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และค่าจ้างที่จำเลยจะชำระก็กำหนดชำระเป็นงวด มิได้กำหนดว่าจะชำระแก่โจทก์และจำเลยร่วมคนละเท่าใดอีกด้วย คงชำระรวมกันไป แม้ในตอนแรกจะแบ่งชำระให้คนละครึ่งของแต่ละงวดก็ตาม ก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกของโจทก์และจำเลยร่วมเท่านั้นหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงฐานะไปไม่ โจทก์และจำเลยร่วมยังคงมีฐานะเป็นผู้รับจ้างอยู่ดังเดิมตามสัญญาจ้างและยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ร่วมในหนี้ค่าจ้าง จำเลยในฐานะลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้คนใดก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298ดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 แก่จำเลยร่วมเช่นนี้แล้วการชำระหนี้จึงชอบแล้วหาเป็นการผิดสัญญาไม่ และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยได้ชำระหนี้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วเช่นนี้ ปัญหาเรื่องอื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share