แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเดิมโจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกซึ่งรวมที่พิพาทคดีนี้ด้วย แต่คดีที่โจทก์ฟ้องใหม่นี้ไม่มีประเด็นวินิจฉัยในเรื่องมรดก ซึ่งการวินิจฉัยไม่ต้องอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ส.ค.1 มีชื่อจำเลยเป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งมิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และมิใช่เป็นที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงโอนกันไม่ได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9 ดังนี้ โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยไปร้องขอแบ่งแยกที่ดินตาม ส.ค.1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอให้โจทก์หาได้ไม่
คดีมีประเด็นพิพาทกันว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอโดยตรงมาในฟ้อง แต่พอเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยต่างก็ประสงค์จะแสดงว่าที่พิพาทเป็นของตนฉะนั้นศาลจึงพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ หาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ไม่
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลรวมการพิจารณา
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเคยฟ้องที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับทรัพย์มรดก ผลที่สุดโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ได้รับที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ครึ่ง เนื่องจากที่ดินดังกล่าวโจทก์เป็นผู้แจ้งการครอบครองโจทก์ได้ติดต่อจำเลยให้ไปร้องขอแบ่งแยกที่ดินต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่อำเภอเมืองให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ยอมไปจัดการจึงขอให้ศาลบังคับจำเลยไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๑๖, ๕๑๗ ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ให้แก่โจทก์เนื้อที่ ๗ ไร่ครึ่งตามแผนที่ท้ายฟ้องให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า เมื่อได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์ไม่ดำเนินการขอแบ่งแยก จำเลยคงครอบครองที่ดินต่อมาจนได้การครอบครองปรปักษ์แล้วโจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอแบ่ง แยกที่ดินให้โจทก์ได้ เพราะที่พิพาทยังไม่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้งคดีโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทและนอกพิพาท ๑ แปลงตามแผนที่ท้ายฟ้องมีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ครึ่งเป็นของโจทก์ จำเลยได้จ้างคนเข้าไปไถบุกรุกเป็นการแสดงเจตนาแย่งสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การสู้คดีว่า ที่ดินตามฟ้องจำเลยได้มาตามสัญญายอมความในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๘/๒๕๐๔ จำเลยครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาจนบัดนี้
ในการพิจารณา ศาลชั้นต้นเรียกนางเจียรว่าโจทก์ และเรียกนายจรูญว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำและเชื่อว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๑๖, ๕๑๗ ให้แก่โจทก์ ๗ ไร่ครึ่งตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง หากจำเลยไม่จัดการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ส่วนคดีหลังพิพากษายกฟ้อง
นายจรูญจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายจรูญจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ส่วนปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๘/๒๕๐๔ โจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกซึ่งรวมที่พิพาทนี้ด้วย แต่กรณีโจทก์ฟ้องใหม่นี้ไม่มีประเด็นวินิจฉัยในเรื่องมรดกซึ่งการวินิจฉัยก็ไม่ต้องอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินตาม ส.ค.๑ ให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ส.ค.๑ ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้แจ้งการครอบครองนี้มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และมิใช่เป็นที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงโอนกันไม่ได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๙ ฉะนั้น ที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยไปร้องขอแบ่งแยกที่ดิน ตาม ส.ค.๑ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอให้โจทก์นั้น จึงบังคับให้ไม่ได้เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นพิพาทกันมาแต่ต้นว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ซึ่งศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอโดยตรงมาในฟ้อง แต่พอเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยต่างก็ประสงค์จะแสดงว่าที่พิพาทเป็นของตน ฉะนั้น แม้จะพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ก็หาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ไม่
พิพากษาแก้ว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์มีสิทธิครอบครอง ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอบังคับให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่พิพาทตาม ส.ค.๑ เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง