คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ มาตรา 175 วรรคสองแห่งป.วิ.พ. กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยพิจารณาจากความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์และผลได้ผลเสียของคู่ความทุกฝ่าย ปรากฏว่านอกจากฟ้องคดีนี้แล้วโจทก์ยังยื่นคำร้องขอให้ห้ามจำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและศาลได้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์ขอถอนฟ้องโดยให้เหตุผลว่าประสงค์ที่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ใหม่จึงอาจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องชอบแล้ว โจทก์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งรวมสองสำนวนเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ในคดีดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องคดีที่มีคำขอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีทั้งสอง ดังนั้น โจทก์ต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในคดีดังกล่าว จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องสองสำนวน โจทก์ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่2322 เลขที่ดิน 35 ตำบลหนองมะเขือ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา มีความประสงค์จะเข้าประมูลสู้ราคา แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้เรียกโจทก์เข้าห้องที่มีการขายทอดตลาด จนกระทั่งเวลาประมาณ 12 นาฬิกา โจทก์จึงทราบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวได้ในราคา28,500 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดิน จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดทรัพย์ และให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีทั้งสองสำนวน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบและเงื่อนไขตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดโดยชอบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวมีผู้เข้าสู้ราคา 3 ราย โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ไปในวันขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ชำระราคาครบถ้วนในวันขายและศาลชั้นต้นได้แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1ไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยที่ 1 และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์สองประการประการแรกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสองกำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาล ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยพิจารณาจากความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์และผลได้ผลเสียของคู่ความทุกฝ่าย คดีนี้นอกจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ยังยื่นคำร้องขอให้ห้ามจำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นสาขาอำเภอพลทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวจนเสร็จแล้ว ต่อมาโจทก์จึงขอถอนฟ้องโดยให้เหตุผลว่าประสงค์จะยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ใหม่ ดังนั้น หากศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้วโจทก์อาจฟ้องจำเลยที่ 1 ใหม่และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษาเช่นเดียวกันกับคดีนี้อีก ซึ่งอาจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรดำเนินการพิจารณาให้เป็นผลเสร็จเด็ดขาดไปในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้นชอบแล้ว ปัญหาประการที่สองว่าโจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ กับขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2531 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 34/2531 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ได้หรือไม่เห็นว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้มีคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2531 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 34/2531 ของศาลชั้นต้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 บัญญัติว่า “ถ้าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามหมายบังคับคดีนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้มีคำสั่งให้ยกหรือแก้ไขหมายนั้นเสีย ถ้าคำขอนั้นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้อื่น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลในขณะเดียวกันนั้น ให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้” และในวรรคสองว่า”ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้…ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น… อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดๆแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เห็นสมควรถ้าคำขอนั้นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้อื่น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลในเวลาเดียวกันนั้น ขอให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้” ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2531 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 34/2531ของศาลชั้นต้น จะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในคดีดังกล่าวจะทำเป็นคำฟ้องมายื่นต่อศาลเป็นคดีใหม่หาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share