คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ราษฎรสองพวกแก่งแย่งกันเป็นเจ้าของที่ป่าแสมพวกหนึ่งได้ร้องถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการไต่สวนกรรมการพิเศษที่กระทรวงเกษตราธิการทั้งออกไปทำการไต่สวนรายงานความเห็นว่าควรแบ่งที่ป่าฟืนซึ่งวิวาทกันให้แก่ฝ่ายที่ร้องถวายฎีกาตามแผนที่หมายสีเหลือง อีกพวกหนึ่งควรได้ตามแผนที่หมายสีเขียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นไปตามความเห็นของกรรมการพิเศษนั้น ดังนี้พระบรมราชวินิจฉัยไม่ใช่พระราชทานกรรมสิทธิ เพราะขณะนั้นที่ดินยังเป็นป่าแสมทั้งตำบลเนื้อที่มากมายมูลกรณีเดิมก็เป็นเรื่องจะแย่งกันหวงป่าไว้หาประโยชน์ทางตัดฟืนพระราชทานบรมราชวินิจฉัยให้แบ่งกันตามเส้นสีก็เพื่อจะระงับข้อพิพาทแบ่งแยกออกไปสองฝ่ายสองพวกมิให้ปะทะแก่งแย่งต่อกันและกันแต่ที่จะได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ต่อไปนั้นจะต้องไปทำการบุกเบิกป่าให้เป็นประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยที่ดินต่อไป

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าราษฎรสองพวกแก่งแย่งกันเป็นเจ้าของที่ป่าแสมจังหวัดสมุทรปรากการ โจทก์ทั้งสามสำนวนนี้รับคนอื่น ๆ ได้ทำการขุดคลองเข้าไปในป่าแสม แต่ทำไม่ตลอด พวกหลังได้มาขุดคลองต่อจากพวกเดิมที่ขุดค้างไว้จนสำเร็จลุล่วงไปจะถือเอาเป็นของตนและขอให้เจ้าพนักงานออกใบไต่สวน พวกโจทก์มี 29 รายชื่อร้องถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ทรงสั่งให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการไต่สวน กรรมการพิเศษที่กระทรวงเกษตราธิการตั้งออกไปทำการไต่สวนรายงานความเห็นว่าควรแบ่งที่ป่าฟืนซึ่งวิวาทกันให้แก่ฝ่ายพวกโจทก์ตามแผนที่หมายเส้นสีเหลือง อีกฝ่ายได้ตามแผนที่หมายเส้นสีเขียวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นไปตามความเห็นของกรรมการพิเศษนั้น ต่อมาโจทก์จึงเข้าชื่อร่วมกับโจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนหาว่าจำเลยแต่ละสำนวนเข้าแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนที่ได้รับพระราชทานจึงขอห้ามอย่าให้เกี่ยวข้องกับถอนชื่อจำเลยออกจากใบไต่สวนแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป

จำเลยทั้งสามสำนวนต่อสู้เป็นใจความว่า ได้รับมรดกและได้ครอบครองมา

ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพระบรมราชวินิจฉัยนั้นไม่ใช่พระราชทานกรรมสิทธิ และข้อครอบครองพยานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาต่อมาทั้งสามสำนวน

ศาลฎีกาเห็นว่าพระบรมราชวินิจฉัยไม่ใช่พระราชทานกรรมสิทธิ์ขณะนั้นที่ดินยังเป็นป่าแสมทั้งตำบล เนื้อที่มากมายมูลกรณีเดิมเป็นเรื่องจะแย่งกันหวงป่าไม้ไว้หาประโยชน์ทางตัดฟืนพระราชทานบรมราชวินิจฉัยให้แบ่งกันตามเส้นสีก็เพื่อจะระงับข้อพิพาทแบ่งแยกออกไปเป็นสองฝ่ายมิให้ปะทะแก่งแย่งต่อกัน แต่ที่จะได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ต่อไปนั้นก็จำต้องไปทำการบุกเบิกป่าให้เป็นประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยที่ดินต่อไป โจทก์ก็เข้าใจเช่นนี้จึงได้ไปขอใบไต่สวนในปี 2474 และเจ้าพนักงานขัดข้อง เพราะยังมิได้ทำประโยชน์ ในข้อครอบครองจำเลยสืบน่าเชื่อมากกว่า

พิพากษายืน

Share