คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 41(4) หาได้จำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่ เพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างนายคำพอง ข้อตุ่ย ลูกจ้าง ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถยนต์บรรทุกแผนกขนส่ง เนื่องจากละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 ถึง 25 มีนาคม 2543เกินสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต่อมานายคำพองได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์เลิกจ้างเพราะเหตุที่นายคำพองยื่นข้อเรียกร้องและเป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้อง จำเลยทั้งสิบสองในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างนายคำพองเนื่องจากไม่พอใจที่นายคำพองยื่นข้อเรียกร้องและเป็นผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้อง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 มีคำสั่งที่ 374/2543 ให้โจทก์รับนายคำพองกลับเข้าทำงานและให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย นับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิโดยชอบที่จะเลิกจ้างนายคำพอง ข้อตุ่ย และเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 374/2543 ดังกล่าว

จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า นายคำพองถูกนายกฤษณะ สะอาดศรี ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลบริเวณหน้าผากด้านซ้ายต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลปิยะมินทร์ แพทย์ลงความเห็นให้หยุดพักรักษาตัวระหว่างวันที่ 19 ถึง 21มีนาคม 2543 และนายคำพองได้เขียนใบลาป่วยจนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 โดยฝากให้พนักงานของโจทก์เสนอต่อผู้บังคับบัญชา เพราะระหว่างวันที่ 22 ถึง 25มีนาคม 2543 นายคำพองต้องไปล้างแผลและตัดไหม การหยุดงานจึงมีเหตุอันสมควรโจทก์เลิกจ้างนายคำพองเนื่องจากนายคำพองลงชื่อในข้อเรียกร้องและเป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้อง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เลิกจ้างนายคำพอง ข้อตุ่ย ลูกจ้างเนื่องจากนายคำพองลงชื่อในหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและเป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้องกับโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 จำเลยทั้งสิบสองในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีคำสั่งที่ 374/2543 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม2543 ให้โจทก์รับนายคำพองกลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การที่จำเลยทั้งสิบสองมีคำสั่งให้โจทก์รับนายคำพองกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้ใช้ค่าเสียหายนั้นชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4)หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4)บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะสั่งให้ทั้งรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายไม่ได้ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518หาได้จำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่เพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายด้วยได้ คำสั่งที่ 374/2543 ของจำเลยทั้งสิบสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share