คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง คงมีแต่ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์เท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาไปโดยมิได้สั่งให้คืนหรือแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในคำแก้อุทธรณ์ย่อมแสดงว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้จริง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแล้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป ถือว่าได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้วฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ จำเลยทั้งสามรับจ้างโจทก์ปลูกสร้างอาคารพิพาทโดยจำเลยทั้งสามรับเป็นผู้ดำเนินการเขียนแบบแปลน และยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างต่อเทศบาลด้วย เมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางเทศบาลเป็นเหตุให้เทศบาลระงับการก่อสร้าง จำเลยทั้งสามจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคแรก แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ทางเทศบาลได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่สาธารณะ ซึ่งการก่อสร้างที่รุกล้ำดังกล่าวเป็นผลจากคำสั่งของโจทก์เอง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิด ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารพิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3ในฐานะส่วนตัวได้ตกลงรับจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างตึกแถว 3 ชั้นเขียนแบบ ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างต่อเทศบาลเมืองนครปฐม และจัดหาช่างฝีมือรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างเป็นเงิน 347,500 บาทแบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดแรก 100,000 บาท งวดที่ 2 จำนวน 120,000 บาทส่วนที่เหลือชำระเมื่องานเสร็จสิ้น หลังจากวันทำสัญญาจำเลยทั้งสามได้ลงมือทำการก่อสร้างโดยแจ้งแก่โจทก์ว่าเทศบาลเมืองนครปฐมได้อนุญาตให้ทำการก่อสร้างตามแบบแปลนแล้ว เมื่อก่อสร้างงวดที่ 1เสร็จโจทก์ชำระค่าจ้างให้จำเลยทั้งสามครบถ้วน ก่อนที่จำเลยทั้งสามจะก่อสร้างงวดที่ 2 เทศบาลเมืองนครปฐมมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบ จำเลยทั้งสามรับจะดำเนินการให้ถูกต้องและดำเนินการก่อสร้างต่อไป จนเกือบจะเสร็จตามงวดที่ 2เทศบาลเมืองนครปฐมมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอีกครั้งและเข้าควบคุมไม่ให้ทำการก่อสร้างต่อไป อีกทั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำไปแล้วออกให้หมด โจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสามทำการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่สาธารณะ และไม่ได้ขออนุญาตจากเทศบาลเมืองนครปฐมให้ถูกต้อง จำเลยทั้งสามจึงไม่สามารถก่อสร้างให้โจทก์เสร็จสิ้นตามสัญญา จำเลยทั้งสามจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งสามทราบแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 106,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ปลูกสร้างไปแล้วทั้งหมดออกจากที่ดิน หากไม่รื้อถอนให้จำเลยทั้งสามชำระค่ารื้อถอนแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 50,000 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ติดต่อยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างต่อเทศบาลเมืองนครปฐม ซึ่งตามแบบที่ยื่นกับเทศบาลนั้นเป็นแบบที่มิได้รุกล้ำที่สาธารณะ แต่การก่อสร้างโจทก์สั่งให้จำเลยทั้งสามก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะไปตามแนวบ้านเดิมที่รื้อไป เนื่องจากตึกแถวบริเวณดังกล่าวรุกล้ำที่สาธารณะทุกตึกแถว เมื่อทำสัญญาแล้วจำเลยทั้งสามได้เข้าทำการก่อสร้างโดยมีโจทก์เป็นผู้ควบคุมและสั่งการทุกวัน ต่อมาเมื่อทำการก่อสร้างตามสัญญางวดแรกเสร็จ โจทก์ได้ชำระค่าก่อสร้างงวดแรกให้แก่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงก่อสร้างต่อไปและเมื่อทำการก่อสร้างงวดที่ 2 เสร็จ จำเลยทั้งสามได้นำเช็คซึ่งโจทก์ชำระค่าก่อสร้างล่วงหน้าไปเรียกเก็บ แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยทั้งสามจึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอให้ชำระหนี้โจทก์เพิกเฉย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ให้ปฏิบัติตามสัญญาเดิม ให้โจทก์ชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 2ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ปลูกสร้างลงไปแล้วออก ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับจากเดือนกรกฎาคม 2529 จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินเสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง คงมีแต่นายสุรชัย ทนายความซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ในคำฟ้อง ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 67(5) แต่กรณีดังกล่าวเป็นข้อบกพร่องในเรื่องที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาไปโดยมิได้สั่งให้คืนหรือแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว แต่ก็ได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาและในชั้นอุทธรณ์โจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อในคำแก้อุทธรณ์แล้วจึงเป็นที่ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้จริง การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแล้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป จึงถือว่าได้มีการแก้ไขในข้อบกพร่องดังกล่าวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า จำเลยหรือโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเหตุที่ให้มีการเลิกสัญญากันก็คือเทศบาลเมืองนครปฐมมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างขณะที่จำเลยที่ 1ผู้รับจ้างได้ก่อสร้างไปจนแล้วเสร็จงานในงวดที่ 2 แล้ว เนื่องจากการก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลและปลูกสร้างรุกล้ำที่สาธารณะชานคลองเจดีย์บูชา จำเลยทั้งสามฎีกาว่าหนังสือสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ระบุให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ยื่นขออนุญาต การที่จำเลยทั้งสามไปยื่นแทนโจทก์จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้เท่านั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามตกลงเป็นผู้เขียนแบบยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างต่อเทศบาลเมืองนครปฐม จำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่า จำเลยมิได้ตกลงเป็นผู้เขียนแบบให้โจทก์ กลับให้การยอมรับว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ติดต่อยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างต่อเทศบาลเมืองนครปฐมจริง ดังนั้น แม้ตามหนังสือสัญญาจ้างจะมิได้ระบุว่าให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เขียนแบบและยื่นคำขออนุญาต ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าว ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่า ในการรับจ้างปลูกสร้างอาคารรายพิพาทจำเลยทั้งสามตกลงรับเป็นผู้ดำเนินการเขียนแบบแปลนและยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างต่อเทศบาลด้วย เมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางเทศบาล เป็นเหตุให้เทศบาลระงับการก่อสร้างเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและในกรณีเช่นนี้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกปัญหาจึงมีว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเงินค่าจ้างงวดแรกที่จำเลยทั้งสามก่อสร้างเสร็จแล้วจำนวน 100,000 บาท กับค่าเสียหายหรือไม่ได้ความตามคำของนายมนตรีนายช่างโยธาเทศบาลเมืองนครปฐมว่าอาคารพิพาทได้ยื่นขอปลูกสร้างภายในเขตที่ดินตามโฉนดแต่ก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ และทางเทศบาลได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่สาธารณะ มิใช่ให้รื้อถอนทั้งหมด นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 แสดงว่าส่วนที่มิได้รุกล้ำที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ แม้จะรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำแล้วอาคารที่เหลือยังสามารถปลูกสร้างต่อไปได้ เฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างที่รุกล้ำดังกล่าวก็เป็นผลจากคำสั่งของโจทก์เองทั้ง ๆ ที่รู้ว่าที่ดินตามโฉนดที่จะก่อสร้างอาคารพิพาทมีเพียงความกว้าง 5 เมตร ลึก 6 เมตรเท่านั้น แต่ยังยืนยันให้จำเลยทั้งสามก่อสร้างมีความลึกถึง 12 เมตร โจทก์เป็นฝ่ายผิดในการออกคำสั่งให้ก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารพิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อีกทั้งโจทก์ยังต้องชดใช้ราคาค่างานที่จำเลยทั้งสามทำให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามได้ก่อสร้างอาคารงวดที่ 3 เสร็จแล้ว ดังนั้น ค่างานที่จำเลยทั้งสามทำให้แก่โจทก์จึงมีไม่น้อยกว่า 100,000 บาท จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องคืนเงินค่าจ้างที่รับไปแล้ว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share