คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อ ชนโจทก์บาดเจ็บ ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 99,000 บาท ได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดนี้ 4,000 บาท ดังนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดนั้นย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 คงมีแต่สิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น จะมาฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดเช่นนี้อีกไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น โดยตนเองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ หากแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 บัญญัติให้ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดในฐานะที่เป็นนายจ้าง เมื่อหนี้ในมูลละเมิดในกรณีนี้ได้ระงับสิ้นไปดังกล่าวแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย โจทก์จึงฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 2 นั้นอีกไม่ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวรับส่งคนโดยสารตามทางการที่จ้าง และเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 สวนทางกับโจทก์ซึ่งขับขี่จักรยาน จำเลยที่ 2 ขับโดยประมาทเลินเล่อ ท้ายรถปัดไหล่โจทก์ล้มลงบาดเจ็บสาหัส ศาลมณฑลทหารบกที่ 7 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 แล้ว ตามสำนวนคดีอาญาแดงที่ 413/2504 โจทก์พิการขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ขอค่าเสียหาย 81,000 บาท ค่าเสียหายฐานทำให้เสียโฉม 15,000 บาท รถจักรยานเสียหายคิดเป็นเงิน 300 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถยนต์นั้นไปจากจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากโจทก์ประมาทเลินเล่อค่าเสียหายที่เรียกร้องก็เกินความจริง จำเลยที่ 2 ขอรับว่า ถูกศาลพิพากษาจำคุกจริง และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,000 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งอยู่ที่โจทก์โจทก์ไม่ชอบที่จะมาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีก

ศาลชั้นต้นเห็นว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาแดงที่ 413/2504ฟังได้ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดในกรณีที่จำเลยกระทำผิดในทางอาญาให้แก่โจทก์แล้วโจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปจากที่ยอมความกันไว้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดดังฟ้องแล้ว ก็ไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยแต่เป็นการสมควรที่โจทก์จะไปเรียกร้องตามสัญญานั้นต่อไป พิพากษายืนในผล ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดนี้เป็นจำนวนเงิน4,000 บาทแล้ว ผลแห่งสัญญาดังกล่าวย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดนั้นระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์คงมีแต่สิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น จะมาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้

มีปัญหาว่า เมื่อโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ผู้ละเมิดแล้วจะมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดได้อีกหรือไม่ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 โดยตนเองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใดหากแต่มาตรา 425 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้นเมื่อหนี้ในมูลละเมิดในกรณีนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้วโดยผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยที่ 2 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างตามมาตรา 425 ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีมูลหนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมด้วยต่อไปอีกโจทก์จะมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 2 นั้น อีกไม่ได้

พิพากษายืน

Share