คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวแต่เมื่อพิจารณาประกอบพยานหลักฐานทั้งหมดในท้องสำนวนแล้วก็ใช้รับฟังลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกอีกสองคนร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี จำคุก 21 ปี ริบของกลางให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 21,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์มีนายสมนึก บุญส่ง ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ได้ร่วมกับพวกอีก 2 คนทำการปล้นทรัพย์และใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บในคืนเกิดเหตุ ปรากฏว่าจำเลยนี้มีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านผู้เสียหายซึ่งกำลังปลูกอยู่ในซอยที่เกิดเหตุ และผู้เสียหายเคยเห็นจำเลยเดินผ่านหน้าบ้านผู้เสียหาย 2 ครั้ง ก่อนเกิดกเหตุประมาณ 7 วันหลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งกับพันตำรวจตรีพินิจ สัตย์เจริญ พยานโจทก์ว่าจำคนร้ายได้ 1 คน พร้อมทั้งบอกรูปร่างลักษณะซึ่งตรงกับที่พันตำรวจตรีพินิจสืบทราบมาก่อน และต่อมาพนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายของจำเลยพร้อมกับบุคคลอื่นไปให้ผู้เสียหายตรวจดูที่โรงพยาบาลสยาม ซึ่งผู้เสียหายกำลังเข้ารับการรักษาเนื่องจากบาดแผลที่ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายในคืนเกิดเหตุ ผู้เสียหายตรวจดูแล้ว ปรากฏว่ามีรูปจำเลยรวมอยู่ด้วย จึงยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ได้ร่วมกับพวกทำการปล้นทรัพย์ปรากฏตามเอกสารหมายจ.1 ในการชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งพนักงานสอบสวนกระทำต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร อันเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยและมาอยู่เป็นสักขีพยานก็ปรากฏว่าผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องดังบันทึกตามเอกสารหมายจ.2 และ จ.3 จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าผู้เสียหายจำคนร้ายได้ไม่ผิดตัว แม้โจทก์จะมีประจักษ์พยานเพียงปากเดียวแต่พยานหลักฐานทั้งหมดในท้องสำนวนเมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วก็ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ได้ร่วมกับพวกกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ปืนยิง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่อ้างว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยอยู่เวรที่กองร้อยมีบัญชีเข้าเวรยามเป็นหลักฐานนั้นก็คงมีแต่ลำพังคำของจำเลยเบิกความลอย ๆ ปากเดียว ไม่มีหลักฐานอื่ใดมาสนับสนุนให้เชื่อได้เช่นนั้นจึงปราศจากน้ำหนักที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340วรรคสี่, 340 ตรี ส่วนโทษและคำขออื่นคงให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”.

Share