แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สารบัญประกันภัยที่โจทก์อ้างมีข้อความระบุถึงผู้รับประกันภัย ผู้เอาประกันภัยและรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้นไม่มีลายมือชื่อผู้รับประกันภัยหรือลายมือชื่อตัวแทนผู้รับประกันภัยแต่อย่างใด โจทก์จึงอาศัยเอกสารดังกล่าวฟ้องร้องบังคับคดีเอาจากผู้รับประกันภัยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867
ย่อยาว
จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการที่ลูกจ้างขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่าจำเลยที่ 3จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.บ. 15955 ของจำเลยที่ 2 หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยตามสารบัญประกันภัยเอกสารหมาย จ.11 โดยอ้างว่าเอกสารนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดทำขึ้นเอง เมื่อมีสารบัญประกันภัยแล้วก็ต้องถือว่าได้มีสัญญาประกันภัยต่อกันแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867บัญญัติว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ และปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.11 ที่โจทก์อ้างเป็นเพียงแบบพิมพ์ ซึ่งทางตอนบนของเอกสารมีข้อความว่าบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัด แล้วมีข้อความถัดลงมาทางตอนล่าง ซึ่งสรุปเป็นใจความได้ว่า “ห.จ.ก. ป. เจริญพันธ์” ได้เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.บ.15955 ไว้เท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อของบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัด หรือลายมือชื่อตัวแทนของบริษัทธนกิจประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 3 แต่อย่างใดจึงเห็นว่า หากจะได้มีการเอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.บ. 15955 ไว้กับจำเลยที่ 3 จริง แต่โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งลงลายมือชื่อจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 3 มาแสดง จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีเอาจากจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867″
พิพากษายืน