แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามหลักทั่วไปเมื่อผู้จัดการทั่วไปไม่อยู่รองผู้จัดการทั่วไปก็จะลงชื่อแทนได้การที่ย. ซึ่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไปของจำเลยลงชื่อในเอกสารหมายจ.4ในขณะที่ผู้จัดการทั่วไปไม่อยู่ไปต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นการลงชื่อในฐานะผู้แทนของจำเลย จำเลยเป็นบริษัทย่อมมีระบบและขั้นตอนในการทำงานหากมีสัญญาเช่าใหม่กับโจทก์ไว้จริงทางจำเลยก็ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือเอกสารหมายจ.4เสนอให้โจทก์เช่าต่ออีกแต่ปรากฎว่าตามข้อตกลงที่จะให้โจทก์เช่าต่อไปนั้นโจทก์จะต้องเสียค่าเช่าเพิ่มอีกร้อยละ15เมื่อได้รับค่าเช่าเพิ่มขึ้นเป็นที่พอใจแล้วจำเลยย่อมจะให้โจทก์เช่าต่อไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้มีการฟ้องขับไล่กันไว้หรือไม่จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงให้โจทก์เช่าห้องพิพาทโดยสำคัญผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลย โดยให้โจทก์ได้เช่าอาคารเลขที่ 135/26 ต่อไปเป็นเวลา 3 ปี ห้ามจำเลยรบกวนสิทธิของโจทก์ในการดำเนินการใช้อาคารที่เช่าดังกล่าว และให้จำเลยรับเงินค่าเช่า(เพิ่มอีกร้อยละ 15) จนกว่าจะสิ้นสัญญาเช่า
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีคำมั่นหรือข้อผูกพันใดที่จะต้องให้เช่าต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์เช่าพื้นที่ในอาคารเลขที่ 135/26 ต่อไปมีกำหนด 3 ปี ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าเดิมแต่ให้จำเลยมีสิทธิรับเงินค่าเช่าเพิ่มจากสัญญาเช่าเดิมร้อยละ 15
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ได้เช่าสถานที่ในโรงแรมของจำเลยทำการค้าเพชรพลอย โดยทำสัญญาเช่ากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งตามสัญญาเช่าดังกล่าวระบุไว้ว่า หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อจะต้องแจ้งความประสงค์ให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดลง โดยสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31ธันวาคม 2531 ปรากฎว่าก่อนสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 จะครบกำหนดโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ธันวาคม 2531 แจ้งความประสงค์ขอเช่าต่อให้จำเลยทราบแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่24 สิงหาคม 2532 จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์และเรียกค่าเสียหายวันที่ 30 พฤศจิกายน 2532 นายยอร์จ โบแฮรง รองผู้จัดการทั่วไปของจำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ อ้างถึงสัญญาเช่าฉบับที่ใช้ในปัจจุบันเป็นทำนองสอบถามว่าโจทก์ประสงค์จะต่อสัญญาเช่าร้านอีกหรือไม่โดยคิดค่าเช่าเพิ่มจากเดิมร้อยละ 15 ตามเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ได้มีหนังสือตอบตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่นายยอร์จ โบแฮรง ลงชื่อในช่องสำหรับลงลายมือชื่อของนายเบอร์นาร์ด กราเนียร์ ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยในเอกสารหมาย จ.4 มีผลผูกพันจำเลยอันเป็นการต่อสัญญาเช่าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีนายเบอร์นาร์ด กราเนียร์ เป็นผู้จัดการทั่วไป มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย และนายยอร์จ โบแฮรง เป็นรองผู้จัดการทั่วไปของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแลจัดการทั่วไปของจำเลย แม้ผู้ที่จะลงชื่อในเอกสารหมาย จ.4 เป็นนายเบอร์นาร์ด กราเนียร์ แต่ปรากฎว่าในช่วงเวลาที่จะลงชื่อในเอกสารดังกล่าวนายเบอร์นาร์ด กราเนียร์ไปประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น (ตามคำให้การของนายยอร์จ โบแฮรงเอกสารหมาย จ.2 ในคดีหมายเลขดำที่ 16415/2532 ของศาลแพ่ง)ตามหลักทั่วไปเมื่อผู้จัดการทั่วไปไม่อยู่รองผู้จัดการทั่วไปก็จะลงชื่อแทนได้ การที่นายยอร์จ โบแฮรง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไปของจำเลยลงชื่อในเอกสารหมาย จ.4 ในขณะที่นายเบอร์นาร์ด กราเนียร์ ไม่อยู่ไปต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นการลงชื่อในฐานะผู้แทนของจำเลย ซึ่งอยู่ในอำนาจที่จะกระทำได้ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า นายยอร์จ โบแฮรง ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์เช่าห้องพิพาทต่อได้โดยสำคัญผิดคิดว่าโจทก์ได้มีสัญญาเช่าใหม่กับจำเลย และไม่ทราบว่าจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นั้น เห็นว่าจำเลยเป็นบริษัทย่อมมีระบบและขั้นตอนในการทำงาน ก่อนที่จะทำหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ให้นายยอร์จ โบแฮรงลงชื่อ เจ้าหน้าที่บริหารงานของจำเลยจะต้องตรวจสอบเรื่องราวแล้วหากมีสัญญาเช่าให้กับโจทก์ไว้จริง ทางจำเลยก็ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือเอกสารหมาย จ.4 เสนอให้โจทก์เช่าต่ออีก และถึงแม้จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากห้องพิพาท แต่ปรากฎว่าตามข้อตกลงที่จะให้โจทก์เช่าต่อไปนั้น โจทก์จะต้องเสียค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 เมื่อจำเลยเห็นว่าจะได้รับค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากโจทก์เป็นที่พอใจแล้ว จำเลยก็ย่อมจะให้โจทก์เช่าต่อไปได้อีก โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้มีการฟ้องขับไล่กันไว้หรือไม่ ด้วยเหตุดังกล่าวมาไม่น่าเชื่อว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เช่าห้องพิพาทต่อโดยสำคัญผิดดังนั้น การที่นายยอร์จ โบแฮรง ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยอันเป็นการต่อสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน