คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจของเทศบาลที่จะสั่งรื้อและดำเนินการรื้อถอนอาคารที่ชำรุดทรุดโทรมหรืออยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ. 2503 นั้น หมายความถึงตัวอาคารชำรุดทรุดโทรมหรืออยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้ มิใช่หมายความถึงบริเวณ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอาคารของโจทก์ยังไม่ชำรุดทรุดโทรม เป็นแต่ตั้งปะปนอยู่กับอาคารอื่นเมื่อรื้ออาคารอื่นแล้วทำให้เกิดที่ว่างคั่นอาคารของโจทก์ ทำให้มีสภาพไม่น่าดูเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นเหตุให้อาคารของโจทก์ตกเป็นอาคารที่อยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้ เช่นนี้ เทศบาลจึงจะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งกฎหมายดังกล่าวมาบังคับไม่ได้
เมื่ออาคารของโจทก์ไม่อยู่ในลักษณะที่เทศบาลจะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 บังคับได้ การที่เทศบาลสั่งรื้อและดำเนินการรื้อถอนอาคารของโจทก์เอง โดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นการละเมิด

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจนำเอาพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 มาตรา 12 มาใช้บังคับสั่งรื้อและดำเนินการรื้อถอนอาคารของโจทก์ 2 ห้อง จนหมดสภาพเป็นอาคารใช้การไม่ได้ โดยโจทก์ไม่ยินยอมและโดยอาคารของโจทก์ยังมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมิได้มีการชำรุดทรุดโทรมแต่ประการใด จำเลยจงใจกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้จำเลยกระทำได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมและแทนกันใช้เงิน 71,920 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายมิได้แกล้งหรือจงใจบังอาจให้โจทก์เสียหาย โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งก่อน โจทก์ทราบกำหนดวันรื้อถอนแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

จำเลยที่ 4 ให้การว่า รับจ้างจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยเชื่อด้วยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจตามกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองมาตรา 12 แต่โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกฎหมายได้ เมื่อคณะกรรมการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งตั้งขึ้นตามกฎหมายได้ไปตรวจสภาพอาคารของโจทก์แล้วลงความเห็นว่า อาคารของโจทก์มีสภาพเก่ารกรุงรังและน่ารังเกียจไม่อาจแก้ไขได้ ควรสั่งรื้อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็มีอำนาจสั่งรื้อได้ภายในกำหนด เมื่อโจทก์ไม่ยอมรื้อ เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็มีอำนาจดำเนินการรื้อโดยคิดค่าใช้จ่ายจากโจทก์ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งพร้อมทั้งดอกเบี้ยแต่วันฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำการรื้อถอนอาคารของโจทก์ซึ่งเชื่อได้ว่าขณะถูกรื้อยังอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุดทรุดโทรมหรือมีสภาพอันน่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อต้องการเอาที่ดินของโจทก์ไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ประการอื่น โดยใช้อำนาจตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 มาใช้เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจตามกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการละเมิด พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันและแทนกันใช้เงิน 71,920 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องให้โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา เพียงข้อเดียวว่า จำเลยมีอำนาจสั่งรื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 มาตรา 12 จึงไม่เป็นละเมิด ขอให้บังคับโจทก์ตามฟ้องแย้ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อาคารของโจทก์ยังไม่ชำรุดทรุดโทรมหรืออยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้ ตั้งปะปนอยู่กับอาคารอื่นคงเป็นแต่ว่าเมื่อได้รื้อถอนอาคารส่วนมากออกไปแล้ว ทำให้มีที่ว่างคั่นอาคารของโจทก์และของผู้อื่นที่ถูกรื้อไปเป็นตอน ๆ ทำให้มีสภาพไม่น่าดูเท่านั้น จึงไม่เป็นเหตุให้อาคารพิพาทของโจทก์ตกเป็นอาคารที่อยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้ไป มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 หมายความถึงตัวอาคารไม่ใช่บริเวณ เมื่ออาคารของโจทก์ยังไม่ชำรุดทรุดโทรม หรืออยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจและไม่อาจแก้ไขได้ จึงนำเอามาตรา 12แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับไม่ได้

เมื่ออาคารของโจทก์ไม่อยู่ในลักษณะที่เทศบาลจะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นมาบังคับได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นละเมิด

พิพากษายืน

Share