คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5973/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์หมั้นและแต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมต้องการอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแม้จะไม่ปรากฏว่าได้พูดกันถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 อยู่กับโจทก์เพียงคืนเดียว โดยโจทก์ไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 อ้างว่าเหนื่อยขอผัดเป็นวันรุ่งขึ้นครั้นวันรุ่งขึ้นโจทก์ต้องช่วยนำสิ่งของที่ใช้ในงานแต่งงานส่งคืนเจ้าของ ไม่มีเวลาว่าง จึงให้จำเลยที่ 1 นำชุดสากลไปคืนที่ร้านในเมือง จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่กินกับโจทก์อีกโดยไม่ปรากฏสาเหตุโจทก์ได้ออกตามหาตลอดมา แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 เคยแสดงท่าทีไม่อยากกลับไปแต่งงานกับโจทก์พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตร จำเลยที่2 ที่ 3 จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาหมั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนสร้อยคอทองคำหนัก 1.25 บาทหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 5,400 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2และที่ 3ร่วมกันคืนเงินจำนวน 15,000 บาท แก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนสิงหาคม 2528 โจทก์กับจำเลยที่ 1ตกลงหมั้นกันโดยมอบของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำหนัก 1.25 บาท ราคา5,400 บาท ให้ จำเลยที่ 1 และตกลงจะแต่งงานกันเมื่อครบวันแต่งงาน จำเลยที่ 1 ไม่ยอมเดินทางกลับไปแต่งงาน จำเลยที่ 3 ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มารับตัว จึงได้ตัวจำเลยที่ 1 ไปแต่งงานตามกำหนด ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2529 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำพิธีแต่งงานกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ที่ 3 โจทก์มอบสินสอดเป็นเงินสดจำนวน 15,000 บาท กับสร้อยคอทองคำหนัก 1.75 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย ในคืนวันดังกล่าว โจทก์กับจำเลยที่ 1นอนอยู่ด้วยกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในวันรุ่งขึ้นโจทก์ใช้ให้จำเลยที่ 1 นำชุดสากลไปส่งคืนที่ร้านในอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก โจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกติดตามหาแต่ก็ไม่พบจำเลยที่ 1 จนกระทั่งบัดนี้ โจทก์ได้รับคืนสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดคืนของหมั้นแก่โจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสามไม่ผิดสัญญาหมั้นเพราะโจทก์ไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1หรือไม่ การที่โจทก์หมั้นกับจำเลยที่ 1 และแต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมต้องการอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 1โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นปกติธรรมดา แม้ไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ในการหมั้นและการแต่งงานตามประเพณีได้พูดกันถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสก็ตาม แต่การจดทะเบียนสมรสเป็นขั้นตอนหลังจากการแต่งงานกันตามประเพณีแล้ว ซึ่งจะต้องดูพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินด้วยกัน เมื่อ จำเลยที่ 1 อยู่กับโจทก์ได้เพียงคืนเดียว โดยโจทก์ไม่ได้ร่วมประเวณีกับ จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 อ้างว่าเหนื่อย ขอผิดเป็นวันรุ่งขึ้น ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างในวันรุ่งขึ้นโจทก์ต้องช่วยนำสิ่งของที่ใช้ในงานแต่งงานไปส่งคืนเจ้าของ และรื้อชานบ้านที่ปลูกขึ้นเพื่อจัดงานไม่มีเวลาว่าง จึงให้จำเลยที่ 1 นำชุดสากลที่เช่ามาไปคืนที่ร้านซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ 1 ก็ออกจากบ้านไปไม่กลับมาอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์โดยไม่ปรากฏสาเหตุ โจทก์ออกตามหาตลอดมา แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้เคยแสดงท่าทีไม่อยากกลับมาแต่งงานกับโจทก์ ตามพฤติการณ์เช่นนี้น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1กับโจทก์ และยังไม่พอฟังว่า โจทก์ไม่นำพาต่อการที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 อันจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ผิดสัญญาหมั้นซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 พ้นความรับผิดแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันคืนเงินจำนวน15,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share