คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การส่งเอกสารโดยวิธีโทรสารเป็นวิทยาการแบบใหม่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่าผู้ส่งจะนำต้นฉบับของเอกสารที่จะทำการส่งไปลงในเครื่องโทรเลขแล้วจัดการส่งโดยวิธีโทรสารไปยังเครื่องโทรสารของผู้รับ ต้นฉบับผู้ส่งจะเป็นผู้เก็บไว้ โทรสารที่โจทก์ส่งศาลเป็นพยานซึ่งจำเลยยอมรับความถูกต้องแล้ว จึงรับฟังได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างวัสดุอุปกรณ์ออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยและบริวารปรับปรุงที่ดินของโจทก์ทั้ง 6 แปลง กลับสู่สภาพเดิม ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายค่าใช้ประโยชน์ที่ดินของโจทก์เป็นเงิน 1,800,000 บาทและค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องจำเลยไม่เคยนำคนงานก่อสร้างเข้าไปบุกรุกใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 125055 ถึง 125060 แขวงคลองกุ่มเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย140,000 บาท แก่โจทก์ ส่วนคำขอให้ขับไล่จำเลยให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับโดยไม่โต้เถียงกันเป็นอย่างอื่นฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่8 สิงหาคม 2534 โจทก์พบว่ามีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านพักและเรือเอกประนอม รัตนกสิกร ได้นำวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างไว้ในที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนายธรรมรักษ์ วาสนาดำรงดี เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยซึ่งทำการปลูกสร้างบ้านชื่อโครงการชื่นสุขวิลล่า 2อยู่ในซอยเดียวกัน และอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมอบอำนาจให้นายอำนวย ปริณายกานนท์ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เรือเอกประนอมได้ส่งโทรสารถึงนายอำนวยมีข้อความรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.4ครั้งวันที่ 15 สิงหาคม 2534 นายอำนวยและนายวิสูตร เชยกลิ่นได้ไปพบเรือเอกประนอมที่สถานีตำรวจดังกล่าวแล้วได้เจรจาตกลงกันให้ร้อยตำรวจเอกสมชัย อนิวัฒน์กุลชัย ทำบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 และเรือเอกประนอมได้มอบนามบัตรเอกสารหมาย จ.6 ให้นายอำนวยและนายวิสูตรไว้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตาฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังคำเบิกความของนายวิสูตรขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95(2) เพราะนายวิสูตร ไม่ได้เป็นผู้ได้เห็นว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์เพียงแต่ทราบจากการบอกเล่าของเรือเอกประนอม จึงเป็นพยานบอกเล่าห้ามมิให้ยอมรับฟังนั้น เห็นว่า นายวิสูตรพยานโจทก์เบิกความว่านายอำนวยผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้นายวรวิทย์ ศรีปราชญ์ไปตรวจดูที่ดินของโจทก์แล้วได้พบคนงานเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัยและมีวัสดุก่อสร้างเก็บอยู่ในที่ดินของโจทก์จึงถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 (รวม 10 ภาพ) โจทก์จึงมอบอำนาจให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ครั้นวันที่ 11สิงหาคม 2534 พยานได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปยังที่ดินของโจทก์ก็พบว่ามีคนงานบุกรุกเข้าไปอยู่ในที่ดินของโจทก์จริง และเจ้าพนักงานตำรวจได้พาคนงานบางคนที่บุกรุกที่ดินของโจทก์ไปสถานีตำรวจ แต่ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยได้จึงตกลงกันว่าจะไปเจรจากันในวันที่ 15 สิงหาคม 2534 โดยคนงานดังกล่าวจะไปแจ้งให้จำเลยมาตกลงด้วย หลังจากนั้นวันที่ 13 สิงหาคม 2534ฝ่ายจำเลยโดยเรือเอกประนอมในฐานะตัวแทนของนายธรรมรักษ์กรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยก็ส่งโทรสารชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์มาให้นายอำนวยตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูข้อความในเอกสารดังกล่าวนี้แล้วได้ความว่า นายธรรมรักษ์ได้ใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่พักของคนงานจำเลยเป็นเนื้อที่ 167 ตารางวา โดยมีแผนที่แสดงให้เห็นถึงที่ดินของโจทก์ที่จำเลยใช้ประโยชน์ดังกล่าวประกอบด้วย และบอกให้ทราบด้วยว่าได้ใช้ที่ดินของโจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2534 นอกจากนี้ ยังมีที่ดินของโจทก์แปลงอื่นอีก 1 แปลง ซึ่งจำเลยได้ใช้ประโยชน์มาประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ท้ายเอกสารหมาย จ.4 นี้ ได้มีลายมือชื่อของเรือเอกประนอมลงไว้พร้อมกับประทับตรายางชื่อของเรือเอกประนอมไว้ให้เห็นแจ้งชัด ซึ่งเรือเอกประนอมก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ข้อความและลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือและลายมือชื่อของตนจริง จนกระทั่งถึงวันที่ 15สิงหาคม 2534 พยานและนายอำนวยได้ไปพบเรือเอกประนอมที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวตามที่นัดกันไว้แล้วได้เจรจากันโดยเรือเอกประนอมก็มิได้ปฏิเสธว่าคนงานที่บุกรุกเข้าไปพักอาศัยในที่ดินของโจทก์นั้นไม่ใช่คนงานของจำเลย และในที่สุดเรือเอกประนอมก็ตกลงยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายคนงานและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งปรับพื้นที่ให้เหมือนเดิมให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ส่วนค่าเสียหายเรือเอกประนอมเสนอชดใช้ให้เดือนละ 10,000 บาท แต่นายอำนวยเรียกเดือนละ100,000 บาท จึงยังตกลงกันไม่ได้และนัดตกลงกันใหม่โดยทั้งสองฝ่ายให้ร้อยตำรวจเอกสมชัย อนิวัฒน์กุลชัย พนักงานสอบสวนลงบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ตามเอกสารหมาย จ.5นอกจากนี้ พยานยืนยันอีกว่า เรือเอกประนอมได้มอบนามบัตรให้พยานและนายอำนวยไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีข้อความระบุที่ทำงานคือบริษัทจำเลยและที่บ้านของเรือเอกประนอมอีกด้วยหลังจากนั้นเรือเอกประนอมก็ไม่ได้ติดต่อกับพยานหรือนายอำนวยอีกเลย พยานจึงไปตรวจดูที่ดินของโจทก์เมื่อต้นเดือนกันยายน 2534ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ขนย้ายคนงานและวัสดุอุปกรณ์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ พยานจึงแจ้งให้นายอำนวยทราบ นายอำนวยจึงมีหนังสือถึงจำเลยให้จัดการขนย้ายคนงานและอุปกรณ์การก่อสร้างออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมกับเรียกค่าเสียหาย ซึ่งจำเลยได้รับไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ตามลำดับ จนกระทั่งวันที่23 กันยายน 2534 พยานได้ไปตรวจดูที่ดินของโจทก์อีกครั้งก็ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้จัดการตามหนังสือบอกกล่าวแต่อย่างใดจำเลยยังคงให้คนงานใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์เต็มพื้นที่ซึ่งพยานได้ถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.9 จากคำเบิกความของนายวิสูตรดังกล่าวเห็นได้ชัดว่านายวิสูตรมิใช่เป็นแต่เพียงผู้ที่ได้รับคำบอกกล่าวจากเรือเอกประนอมดังที่จำเลยฎีกาเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆจากบุคคลและสิ่งของวัสดุก่อสร้างที่มีผู้บุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อีกด้วย จึงถือได้ว่านายวิสูตรเป็นประจักษ์พยานของโจทก์ซึ่งเบิกความอย่างสมเหตุสมผลไม่มีพิรุธ จึงเป็นพยานที่รับฟังได้หาใช่ขัดต่อกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาไม่ และที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังโทรสารเอกสารหมาย จ.4 ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(1) เพราะไม่ใช่เป็นต้นฉบับแต่เป็นสำเนาเอกสารที่จำเลยมิได้ตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงห้ามรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การส่งเอกสารโดยวิธีโทรสารเป็นวิทยาการแบบใหม่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่าผู้ส่งจะนำต้นฉบับของเอกสารที่จะทำการส่งไปลงในเครื่องโทรสารแล้วจัดการส่งโดยวิธีโทรสารไปยังเครื่องโทรสารของผู้รับ ฉะนั้น ต้นฉบับผู้ส่งจะเป็นผู้เก็บไว้ เกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.4 นี้เป็นโทรสารที่นายวิสูตรพยานโจทก์เบิกความอ้างว่าเรือเอกประนอมเป็นผู้ส่งมาให้นายอำนวย และเรือเอกประนอมก็เบิกความยอมรับแล้วว่า ข้อความที่เขียนและลายมือชื่อเป็นลายมือและลายมือชื่อของตนจริง ยิ่งไปกว่านี้นายธรรมรักษ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยได้เบิกความยอมรับว่า เครื่องโทรสารที่ใช้โทรสารไปถึงนายอำนวยดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 นั้นเป็นเครื่องโทรสารของจำเลยจริงและไม่ปฏิเสธว่าเรือเอกประนอมไม่ได้ส่งโทรสารตามเอกสารหมาย จ.4 ไปยังนายอำนวยดังที่โจทก์นำสืบ นายธรรมรักษ์คงเบิกความลอย ๆ ว่าเครื่องโทรสารของจำเลยดังกล่าวคนอื่นซึ่งไม่ใช่คนงานของจำเลยก็ใช้ได้เท่านั้นและในชั้นพิจารณาจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับความถูกต้องแล้วเอกสารหมาย จ.4 จึงรับฟังได้ไม่ขัดต่อกฎหมายดังที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน

Share