คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

น. ยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านเกิดเหตุให้แก่ บ. โดยไม่รวมบ้าน และยกบ้านเกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านเกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านเกิดเหตุจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่าเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2542 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ขณะนายประพันธ์หรือแมว ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน 80 – 2803 ประจวบคีรีขันธ์ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 9553 นครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันพลิกคว่ำและเกิดระเบิดเพลิงไหม้ลุกลามไหม้บ้านเลขที่ 131 หมู่ที่ 2 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า บ้านเกิดเหตุเป็นบ้านของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นางนพ และนางบุญเลี่ยม เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เดิมนางนพเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านเกิดเหตุ ต่อมาประมาณปี 2522 นางนพยกเฉพาะที่ดินให้นางบุญเลี่ยม พี่สาวของโจทก์ส่วนบ้านยังเป็นของนางนพ ครั้นปี 2536 กรมทางหลวงได้เวนคืนที่ดินและบ้านเกิดเหตุและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่นางบุญเลี่ยม และค่าทดแทนบ้านเกิดเหตุให้แก่นางนพ โดยยอมให้นางนพรื้อถอนบ้านไปได้ตามหลักฐานการจ่ายค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่นางนพยังไม่ได้รื้อถอนไปเนื่องจากยังไม่มีการสร้างทาง หลังจากนั้นปี 2538 นางนพยกบ้านเกิดเหตุให้โจทก์เพื่อรื้อถอนไปสร้างใหม่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับการยกให้บ้านเกิดเหตุจากนางนพ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่านางนพยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านเกิดเหตุให้แก่นางบุญเลี่ยมโดยไม่รวมบ้านและยกบ้านเกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านเกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านเกิดเหตุจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ไม่ โจทก์จึงเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุ เมื่อได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายประพันธ์หรือแมว หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทอำนวย พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบรายงานการสอบสวนว่า จากการสอบสวนได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุนายประพันธ์ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุไปชนท้ายรถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งรอสัญญาณไฟจราจรที่บริเวณสามแยกบายพาสเพื่อเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปอำเภอปราณบุรี ทำให้รถยนต์บรรทุกหกล้อกระเด็นข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามและชนกับรถยนต์บรรทุกอ้อยซึ่งพลิกคว่ำอยู่ก่อนแล้ว ส่วนรถยนต์บรรทุกน้ำมันเสียหลักพลิกคว่ำเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปไหม้บ้านเกิดเหตุของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองมีนายจักรพันธ์ เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานโดยสารรถยนต์บรรทุกน้ำมันคู่กับนายประพันธ์มาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางแยกและมีลักษณะเป็นคอขวด ในช่องเดินรถด้านซ้ายมีรถยนต์บรรทุกอ้อยแล่นอยู่ เมื่อนายประพันธ์ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันเลี้ยวขวาผ่านทางแยก รถยนต์บรรทุกอ้อยได้แล่นตัดหน้าเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน นายประพันธ์จึงห้ามล้อรถและหักรถหลบไปทางด้านซ้าย ซึ่งขณะนั้นมีรถยนต์บรรทุกหกล้อแล่นพุ่งเข้ามา เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกหกล้อกับรถยนต์บรรทุกน้ำมันเฉี่ยวชนกันในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเสียหลักพลิกคว่ำไปทางด้านซ้าย ไฟลุกไหม้ตัวของพยาน และรถยนต์บรรทุกน้ำมันได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้าและกระจกแตก เห็นว่า คำเบิกความของนายจักรพันธ์ขัดแย้งกับเหตุผลความเป็นจริง เพราะพยานเบิกความว่า รถยนต์บรรทุกอ้อยแล่นตัดหน้าเข้ามาในช่องเดินรถทางขวาของรถยนต์บรรทุกน้ำมันที่นายประพันธ์ขับ นายประพันธ์จึงห้ามล้อรถและหักหลบไปทางด้านซ้าย ซึ่งหากเป็นจริงดังจำเลยทั้งสองนำสืบ รถยนต์บรรทุกน้ำมันต้องถูกรถยนต์บรรทุกหกล้อเฉี่ยวชนทางด้านซ้ายของรถค่อนมาทางด้านท้ายและรถยนต์บรรทุกหกล้อต้องได้รับความเสียหายทางด้านหน้าค่อนมาทางขวาของตัวรถ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์บรรทุกหกล้อได้รับความเสียหายบริเวณท้ายรถและรถยนต์บรรทุกน้ำมันได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้ากระจกหน้าแตก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่า เชื่อว่านายประพันธ์ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันด้วยความเร็วขณะเข้าทางแยกแล้วชนท้ายรถยนต์บรรทุกหกล้อ ขณะเคลื่อนรถออกจากทางแยกเพื่อเลี้ยวขวาไปทางอำเภอปราณบุรี เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเสียหลักพลิกคว่ำเกิดเพลิงลุกไหม้บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายประพันธ์ ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าเสียหายเพียงใด โจทก์มีนายนพดล ซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างเบิกความว่า เคยเห็นบ้านของโจทก์ที่ได้รับความเสียหายมาก่อนตามภาพถ่าย พยานได้ประเมินค่าก่อสร้างบ้านของโจทก์ว่าต้องเสียค่าก่อสร้างทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 800,000 บาท และจำเลยมีนายอัมพร หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน แขวงการทางหัวหิน ซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาบ้านของโจทก์เสนอคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางหลวง ซึ่งก่อนการประเมินราคาของพยานจะต้องเข้าไปสำรวจรายละเอียดอาคารแต่ละหลังก่อนว่าใช้วัสดุอะไรก่อสร้างบ้าง ในการจ่ายค่าทดแทนพยานจะประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างโดยคำนวณจากราคาท้องตลาดของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ประกอบกับสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนสามารถรื้อถอนขนย้ายไปใช้ปลูกสร้างใหม่ได้หรือไม่ ถ้ารื้อถอนแล้วนำไปใช้ไม่ได้จะคำนวณจ่ายค่าทดแทนให้เต็มจำนวน ส่วนที่รื้อถอนไปใช้สร้างใหม่ได้จะจ่ายค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่เป็นค่าแรงรื้อถอน ค่าแรงสร้างใหม่ ค่าขนย้ายวัสดุที่ใช้ได้ ค่าขนย้ายเครื่องใช้ที่ใช้ได้ และค่าวัสดุที่รื้อถอนไปใช้ไม่ได้ สำหรับบ้านเกิดเหตุพยานประเมินแล้วเสนอให้จ่ายค่าทดแทนแก่นางนพเป็นเงิน 299,961 บาท ตามหลักฐานการจ่ายค่าทดแทน แต่จำเลยไม่นำพยานหลักฐานมานำสืบยืนยันให้เห็นว่าเหตุใดค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวบ้านจึงไม่ควรเกิน 50,000 บาท เห็นว่า โจทก์นำสืบว่าราคาบ้านเกิดเหตุที่ถูกไหม้ไปหากปลูกใหม่ต้องเสียค่าก่อสร้าง 800,000 บาท เมื่อหักค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าวัสดุที่รื้อไปใช้สร้างใหม่ไม่ได้ตามที่พยานจำเลยนำสืบจำนวน 299,961 บาท แล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจำนวนประมาณ 500,000 บาท ซึ่งบ้านเกิดเหตุมีการก่อสร้างมานานย่อมเสื่อมค่าเสื่อมราคาและสึกหรอจากการใช้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 300,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว สำหรับทรัพย์สินอื่นภายในบ้านเกิดเหตุ โจทก์มีตัวโจทก์และนางบุญเลี่ยมมาเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุมีโต๊ะกินข้าว ตู้เสื้อผ้า เตียงนอนและชุดรับแขกซึ่งทำด้วยไม้มะค่า รวมราคา 47,000 บาท และพระเครื่อง 100 องค์ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้ อยู่ในบ้านและถูกไฟไหม้เสียหายหมด ส่วนจำเลยทั้งสองคงกล่าวอ้างลอยๆ ว่าไม่มีทรัพย์สินในบ้านเกิดเหตุตามที่โจทก์อ้าง โดยไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามข้ออ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุทรัพย์สินดังกล่าวถูกไฟไหม้หมด เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 20,000 บาท โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง จึงเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share