คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งเอาไปขายฝากโจทก์และไม่ไถ่ภายในเวลาที่กำหนดแล้วที่พิพาททั้งแปลงย่อมหลุดตกเป็นสิทธิแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2502 จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านไม่มีโฉนดอยู่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แก่โจทก์เป็นเงิน 18,600 บาท กำหนดอายุขายฝาก 1 ปี ถึงกำหนดจำเลยไม่ไถ่ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ๆ ไปขอออกโฉนดเป็นชื่อโจทก์จำเลยขออาศัยอยู่อีก 1 เดือน ครั้นครบกำหนดก็ไม่ออก ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า จำเลยกับนางฟองจันทร์บุตรของจำเลยได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้จากนายอูบสามีจำเลย จึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันต่อมาจำเลยกู้เงินโจทก์ ๆ ออกอุบายให้จำเลยจำนองที่แปลงนี้แก่โจทก์ แต่ต่อมากลายเป็นสัญญาขายฝาก จึงเป็นโมฆะ แม้จะฟังว่าสัญญาขายฝากใช้ได้ จำเลยก็มีสิทธิอยู่ในที่ดินแปลงนี้ เพราะนางฟองจันทร์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินครึ่งหนึ่ง โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้

นางฟองจันทร์ร้องสอดว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ร้องกับจำเลยคนละครึ่งจำเลยเอาที่ดินพิพาทประกันเงินกู้โจทก์ก็เพียงครึ่งหนึ่งอันเป็นส่วนของจำเลย ไม่ผูกพันส่วนของผู้ร้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาขายฝากที่จำเลยทำนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแต่สมบูรณ์เฉพาะที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยที่ขายฝากโจทก์ ไม่รวมถึงที่ดินที่เป็นส่วนของผู้ร้อง เพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ เมื่อผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของในที่พิพาทและที่พิพาทยังมิได้แบ่งเป็นส่วนสัดระหว่างจำเลยและผู้ร้อง ยังไม่ทราบว่าที่พิพาทส่วนใดจะตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาขายฝาก จำเลยและผู้ร้องจึงยังมีสิทธิอาศัยอยู่ในที่พิพาทได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของที่พิพาทยินยอมจำเลย เอาที่พิพาทไปทำสัญญาขายฝาก ผู้ร้องจึงต้องรับผิด ขอให้พิพากษากลับ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องยินยอมด้วยในการที่จำเลยขายฝากที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดไม่ไถ่ ก็ต้องตกเป็นของโจทก์ ผู้ร้องและจำเลยอยู่โดยไม่มีสิทธิจะอ้างได้ตามกฎหมาย พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยและผู้ร้องกับบริวารออกจากที่พิพาท

นางฟองจันทร์ผู้เดียวฎีกาว่า จำเลยไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องไปขายฝากโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องแรกว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของนายอูบ จำเลยเป็นภริยานายอูบ นางฟองจันทร์ผู้ร้องเป็นบุตรจำเลยและนายอูบ นายอูบถึงแก่กรรมไปแล้ว ทรัพย์พิพาทจึงตกแก่จำเลยและผู้ร้อง มีกรรมสิทธิ์รวมกันปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่จำเลยมารดาของผู้ร้องเอาที่พิพาทไปขายฝากโจทก์นั้น ผู้ร้องรู้เห็นยินยอมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่รู้เห็นด้วยกับการขายฝากที่พิพาทนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์มีนายสิงห์ทองพนักงานที่ดินอำเภอเมืองลำพูนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าในวันที่จำเลยไปขอให้พยานทำสัญญาขายฝากที่พิพาทผู้ร้องก็อยู่ด้วยและได้ให้ความยินยอม ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิเคราะห์เอกสาร จ.7 (สัญญาขายฝากที่โจทก์จำเลยและผู้ร้องทำกันเอง) ซึ่งผู้ร้องก็รับอยู่ว่าได้ลงชื่อไว้ให้โจทก์ที่บ้านโจทก์ ก็ได้ความชัดว่าผู้ร้องได้รู้เห็นในการขายฝากรายนี้มาตั้งแต่ต้นก่อนที่จะมาทำสัญญากันที่อำเภอแล้ว ดังนั้นการที่ผู้ร้องมาอ้างว่าไม่ได้รู้เห็นในการขายฝากที่พิพาทจึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ หาได้มีพยานหลักฐานใดมาหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่ ในฐานะที่ผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทรู้เห็นยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งเอาไปทำการขายฝากโจทก์ไว้และปล่อยให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์แล้วที่พิพาทก็ตกเป็นของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share