คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5959/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลูกจ้างจะต้องมาทำงานระหว่าง 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่ลูกจ้างลงเวลาทำงานไว้ว่าได้มาทำงานและเลิกงานตามเวลาดังกล่าว โดยมีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมการทำงานลงชื่อกำกับความถูกต้องในช่องหมายเหตุทุกวัน แสดงว่านายจ้างไม่ได้ถือว่าการลงเวลามาทำงานและเลิกงานเป็นสาระสำคัญ แม้จะลงเวลาไม่ตรงกับความเป็นจริงผู้ควบคุมการทำงานลูกจ้างก็ลงชื่อกำกับความถูกต้องให้ ไม่ปรากฏว่า ลูกจ้างถูกหักค่าจ้างจากการมาทำงานสายและเลิกงานก่อนเวลา จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรง และการกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเป็นเงิน 3,060 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 22,500 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,250 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 37,500 บาท ค่าจ้างส่วนที่ค้างเพราะจ่ายต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 3,060 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ทำความสะอาดรถยนต์โดยสารประจำทาง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มักมาปฏิบัติหน้าที่สายกว่าเวลาที่กำหนดและเลิกงานกลับบ้านก่อนเวลาที่กำหนดบางครั้งขาดงานติดต่อกันหลายวัน จำเลยตักเตือนแล้ว แต่โจทก์จงใจขัดคำสั่งและละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเป็นอาจิณ ละทิ้งงานไปก่อนกำหนดเวลาแต่ปกปิดรับเงินค่าจ้างเต็มวันเป็นการทุจริตเบียดบังเวลาและเงินค่าจ้าง ทำให้งานของจำเลยล่าช้าเสียหายอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายวัน ไม่ปรากฏว่าหากโจทก์มาสายและกลับก่อนเวลาเลิกงาน การคำนวณค่าจ้างจะต้องหักส่วนที่มาสายและกลับก่อนเวลาออกจากค่าจ้างรายวัน การที่โจทก์ลงเวลาทำงานในใบลงเวลาทำงานมากกว่าที่ทำงานจริง มิใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มาทำงานสายและกลับก่อนเวลาเป็นประจำนั้น มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน22,500 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ลงเวลาในใบลงเวลาทำงานมากกว่าที่โจทก์ทำงานจริงย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างอย่าง มากมาย การกระทำของลูกจ้างจึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแก่ตนเองแล้ว และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาจะมีว่าโจทก์ได้ปฏิบัติเช่นนั้นจริง แต่การพิจารณาว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่คู่กรณีปฏิบัติต่อกันเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์จะต้องมาทำงานระหว่างเวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา แต่การที่โจทก์ลงเวลาทำงานไว้ในเอกสารหมาย จ.1 ว่าโจทก์มาทำงานและเลิกงานตามเวลาโดยมีนายท่ารถยนต์โดยสารที่โจทก์ทำงานอยู่นั้นลงชื่อกำกับความถูกต้องในช่องหมายเหตุทุกวัน แสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือว่าการลงเวลามาทำงานและเบิกงานเป็นสาระสำคัญ แม้จะลงเวลาไม่ตรงกับความเป็นจริง นายท่ารถยนต์โดยสารก็ลงชื่อกำกับความถูกต้องให้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกหักค่าจ้างจากการที่มาทำงานสายและเลิกงานก่อนเวลา จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงและการกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
พิพากษายืน

Share