คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อมาโจทก์ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานกองทุนได้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้โจทก์แล้ว และได้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท ให้แก่จำเลยไว้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานตามข้อบังคับกองทุนฯ ข้อ 37 วรรคหนึ่ง (7) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยต้องเก็บรักษาไว้แทนผู้จัดการกองทุนเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อพ้นจากตำแหน่งในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบ ดังนั้น เมื่อโจทก์ลาออกจากงานด้วยความยินดีของทั้งสองฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ เงินดังกล่าวจึงยังมีสภาพเป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุน มิได้กลับมาเป็นของจำเลยแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23, 24 และไม่อาจนำไปหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 346

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการเดียวว่า เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่กองทุนเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้วได้จ่ายให้แก่จำเลยจำนวน 531,702.57 บาท ยังมีสภาพเป็นเงินสมทบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 หรือไม่ และจำเลยจะนำไปหักกลบลบหนี้หรือถือเป็นรายได้ของจำเลยในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้กลับคืนมาได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิกภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนซึ่งตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว หมวด 9 การได้รับเงินจากกองทุน ข้อ 36 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “เมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ สมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมเต็มจำนวน” และข้อ 37 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “เมื่อสมาชิกซึ่งเป็นพนักงาน กฟผ. สิ้นสมาชิกภาพ สมาชิกจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามสิทธิเว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีสมาชิกตาย แต่สมาชิกดังกล่าวถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และ กฟผ. เห็นว่า ถ้าไม่ตายเสียก่อนก็จะได้รับโทษถึงปลดออกจาก กฟผ.
(2) กรณีสมาชิกเกษียณอายุ แต่สมาชิกดังกล่าวถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ซึ่งคดีอาญานั้น กฟผ. เป็นผู้เสียหาย หรือการกระทำความผิดทางอาญานั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในบริเวณ กฟผ. เว้นแต่คดีที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท และเมื่อคดีหรือกรณีถูกกล่าวหาถึงที่สุดแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจะมีความผิดซึ่ง กฟผ. เห็นว่าถ้าไม่เกษียณเสียก่อนก็จะต้องได้รับโทษปลดออกจากงาน
(3) กรณีสมาชิกถูก กฟผ. ให้ออกเพราะขาดคุณสมบัติซึ่งสมาชิกดังกล่าวได้จงใจปกปิดข้อเท็จจริงไว้ในขณะเข้าปฏิบัติงาน และกรณีถูก กฟผ. ให้ออกเพราะขาดความรู้อยู่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานหรือก่อนได้รับการจ้างเป็นลูกจ้าง
(4) กรณีสมาชิกถูก กฟผ. ให้ออกเพราะเหตุอื่นนอกจาก (3) และสมาชิกดังกล่าวมีอายุการทำงานใน กฟผ. น้อยกว่าหนึ่งปี
(5) กรณีสมาชิกถูก กฟผ. ปลดออก
(6) กรณีสมาชิกลาออกจาก กฟผ. และสมาชิกดังกล่าวมีอายุการทำงานใน กฟผ. น้อยกว่าห้าปี
(7) กรณีสมาชิกลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน
ให้จัดการกองทุนจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ไม่ได้จ่ายให้แก่สมาชิกคืนให้แก่ กฟผ. ทันทีนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพโดยถือเป็นรายได้ของ กฟผ. ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีตาม (7) ให้ กฟผ. เก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้บุคคลนั้นเมื่อพ้นจากตำแหน่งใน กฟผ. และมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ”
ตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 37 วรรคสอง ที่ระบุให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ไม่ได้จ่ายให้แก่สมาชิกคืนให้แก่จำเลยโดยถือเป็นรายได้ของจำเลยในรอบระยะเวลาบัญชีเพียงกรณีที่สมาชิกกระทำความผิดหรือถูกลงโทษถึงปลดออกหรือให้ออก และกรณีลาออกแต่มีอายุการทำงานน้อยกว่าห้าปีตาม (1) ถึง (6) โดยมีข้อยกเว้นใน (7) กรณีสมาชิกลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน ซึ่งกรณีนี้ให้จำเลยเก็บรักษาเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ผู้จัดการกองทุนจ่ายมาให้เพื่อให้จำเลยจ่ายแก่สมาชิกนั้นเมื่อพ้นจากตำแหน่งและมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งยุติในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้วได้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้โจทก์แล้ว และได้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท ให้แก่จำเลยไว้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 37 วรรคหนึ่ง (7) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยต้องเก็บรักษาไว้แทนผู้จัดการกองทุนเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อพ้นจากตำแหน่งในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและโจทก์มีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ ดังนั้น เมื่อโจทก์ออกจากงานด้วยความยินดีของทั้งสองฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ เงินดังกล่าวจึงยังมีสภาพเป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนมิได้กลับมาเป็นของจำเลยแต่อย่างใดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 และมาตรา 24 และไม่อาจจะนำไปหักกลบลบหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 346 จึงมิใช่เงินที่จำเลยจ่ายสมทบเข้ากองทุนและถือเป็นรายจ่ายไปแล้ว และได้เงินกลับคืนมาจากกองทุนด้วยประการใด ๆ ที่จะถือเป็นรายได้ของจำเลยในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้กลับคืนมาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 183 (พ.ศ.2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อ 6 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยหักหนี้สินที่โจทก์มีต่อจำเลยและหนี้สินที่มีต่อเจ้าหนี้รายอื่นจากเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 37 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่รับไว้จากผู้จัดการกองทุนให้แก่โจทก์ทั้งหมดนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share