คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5952/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 73 วรรคสอง หมายความว่า ผู้กระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยมิชอบและความผิดฐานมีไว้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตนั้นหากเป็นไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ไม่ว่าจำนวนมากน้อยเพียงใดก็มีความผิด หากเป็นไม้ประเภทอื่นจะมีความผิดต่อเมื่อทำไม้หรือมีไม้เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร
จำเลยมีไม้แดง ไม้รัง และไม้ประดู่ รวมไม้ทั้งหมด 284 ท่อน ซึ่งเกิน 20 ท่อน และรวมปริมาตรไม้ทั้งสิ้น 6.47 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิน 4 ลูกบาศก์เมตร เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ มาตรา 69 วรรคสอง (2) และมาตรา 73 วรรคสอง (2) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ , ๖๙ , ๗๓ , ๗๔ จัตวา ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ , ๖๙ วรรคสอง , ๗๓ (๒) วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา ๖๙ วรรคสอง (๒) , ๗๓ วรรคสอง (๒)) , ๗๔ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก ๓ ปี ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย จำคุก ๓ ปี รวมจำคุก ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ริบของกลาง ส่วนเงินสินบนเนื่องจากศาลมิได้พิพากษาปรับ จึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานทำไม้หวงห้าม จำคุก ๒ ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๔ ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙ วรรคสอง (๒) และมาตรา ๗๓ วรรคสอง (๒) หรือไม่ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น (๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ (๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท และมาตรา ๗๓ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ (๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ (๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรหรือไม้ที่ได้แปรรูปรวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท” หมายความว่าผู้กระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยมิชอบและความผิดฐานมีไว้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตนั้น หากเป็นไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ไม่ว่าจำนวนมากน้อยเพียงใดก็มีความผิด หากเป็นไม้ประเภทอื่นจะมีความผิดต่อเมื่อทำไม้หรือมีไม้เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร คดีนี้จำเลยมีไม้แดง ไม้รัง และไม้ประดู่ รวมไม้ทั้งหมด ๒๘๔ ท่อน ซึ่งเกิน ๒๐ ท่อน และรวมปริมาตรไม้ทั้งสิ้น ๖.๔๗ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิน ๔ ลูกบาศก์เมตร เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดมาตรา ๖๙ วรรคสอง (๒) และมาตรา ๗๓ วรรคสอง (๒) แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ไม้ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมากเป็นภัยต่อป่าไม้อันเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ นับเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ใช้ดุลพินิจลดโทษให้นั้น นับเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share