แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลย ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 2514/2533ของศาลชั้นต้นเป็นกรณีที่จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย มิใช่โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 2514/2533 ของศาลชั้นต้นมาเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้อีกจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์ขายฝากที่ดินไว้แก่จำเลยทั้งสอง และได้ขอไถ่ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ไถ่ทรัพย์ที่รับขายฝากไว้ ข้อที่ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามหนังสือสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน เมื่อคู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จะต้องโอนที่ดินที่ขายฝากให้จำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่จะต้องบังคับกันอีกต่างหาก ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไถ่ที่ดินที่ขายฝากรายนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2532 โจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 50267 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไว้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 250,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน1 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ขอชำระสินไถ่เพื่อถมที่ดินพิพาทคืน จำเลยบอกปัดไม่รับชำระค่าสินไถ่ดังกล่าวโจทก์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3 เจ้าพนักงานบอกกล่าวจำเลยทั้งสองให้ทราบถึงการที่ได้วางทรัพย์นั้นแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวและไม่ยอมจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับชำระเงินจำนวน 250,000 บาทซึ่งวางไว้ ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนไถ่การขายฝากแก่โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ นายบัญชา เหนือจำพิศ หรือเหนือจำทิศ นายบุญมี จงจอหอ และนายประสิทธิ์ บรรจงเพียรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 50267, 50266, 50268และ 50269 ตามลำดับ และตกลงกันตั้งนายบุญมีเป็นตัวแทนนำที่ดินของแต่ละคนไปขาย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2532 นายบุญมีจึงเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนกับจำเลยที่ 2 ว่านายบุญมีจะขายที่ดินทั้ง 4 แปลง มีเนื้อที่รวมกัน 11 ไร่77 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาไร่ละ 200,000 บาท ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 77 ตารางวา ไม่คิดราคาโดยจำเลยที่ 2 จะมอบเงินจำนวน 1,300,000 บาท ให้แก่นายบุญมีเพื่อนำไปไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้ง 4 แปลง ซึ่งติดจำนองธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วนายบุญมีและนายประสิทธิ์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 50268 และเลขที่ 50269 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยถือว่าที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าวมีราคา 1,200,000 บาทส่วนเงินที่เหลืออีกจำนวน 100,000 บาทนั้นให้ถือว่าเป็นการชำระราคาที่ดินพิพาทคดีนี้ ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 50266 ของนายบัญชานั้นตกลงให้จำเลยที่ 2 ขาย เมื่อขายได้แล้วจะนำเงินมาชำระราคาที่ดินโดยคิดราคาไร่ละ 200,000 บาท และจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 หรือโอนให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 2จัดหามา โจทก์จะเข้ารับประโยชน์แห่งสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนดังกล่าว โดยมีนายบุญมีรับเงินจำนวน 1,300,000 บาท ไปจากจำเลยที่ 2 แล้ว ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้ง 4 แปลง จากธนาคารอาคารสงเคราะห์นำโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อมาโจทก์ต้องการใช้เงิน 250,000 บาท โจทก์จึงให้นายบุญมีไปขอให้จำเลยที่ 2 หาเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์จำเลยที่ 2จึงขอให้จำเลยที่ 1 จัดหาเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยทั้งสอง เพื่อเป็นหลักฐานแห่งการได้รับชำระราคาที่ดินอีก 250,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2ได้ฟ้องบังคับให้โจทก์รับชำระราคาที่ดินในส่วนที่เหลือแล้วดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กับผู้รับซื้อฝากคนเดิม ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2514/2533ของศาลชั้นต้นโจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพื่อให้ไถ่การขายฝากได้เพราะโจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2ฟ้องของโจทก์จึงเป็นการดำเนินคดีซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่2514/2533 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับชำระสินไถ่จำนวน 250,000 บาท จากสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 50267 จากการขายฝากให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมนางสาวนราภรณ์ ศักดิ์ชัยสิทธิกุล ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 50267 ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2532 นายบุญมี จงจอหอได้นำที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ดังกล่าวไปทำสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนกับจำเลยที่ 2 โดยมีรายละเอียดว่า นายบุญมีรับรองว่าสามารถนำที่ดินของโจทก์กับที่ดินอีก 3 แปลงขายให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ในราคาไร่ละ 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 นำเงิน 1,300,000 บาทมาให้นายบุญมีไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งมีการจำนองอยู่ 4 แปลง เมื่อไถ่ถอนแล้วจะโอนให้จำเลยที่ 2จำนวน 2 แปลงก่อน โดยคิดราคา 1,200,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือ100,000 บาท นายบุญมีรับไว้เป็นค่าชำระราคาที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 50267 ของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 จัดหาผู้ซื้อและรับโอนต่อไป หากนายบุญมีไม่สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ที่จำเลยที่ 2 นำมาวันโอน นายบุญมียอมใช้เงินห้าเท่าของราคาที่ดินโดยถือราคาไร่ละ 200,000 บาทหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2532โจทก์ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยทั้งสองไว้เป็นเงิน 250,000 บาท มีกำหนดไถ่ภายใน 1 ปี ครั้นใกล้ครบกำหนดไถ่การขายฝากจำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์ไถ่การขายฝากโจทก์จึงได้นำเงิน 250,000 บาท ไปวางต่อสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3 เพื่อไถ่การขายฝากรายนี้ ต่อมาจำเลยที่ 2ได้ฟ้องขอให้บังคับโจทก์กับพวกปฏิบัติตามหนังสือสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน ตามคดีหมายเลขดำที่ 2514/2533 ของศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่าคดีโจทก์ต้องห้ามมิให้ฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 2514/2533 ของศาลชั้นต้น เห็นว่าในเรื่องฟ้องซ้อนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น”แต่คดีนี้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลย ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 2514/2533ของศาลชั้นต้นเป็นกรณีที่จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย มิใช่โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 2514/2533 ของศาลชั้นต้นมาเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้อีก จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกประการหนึ่งว่า โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ขายฝากที่ดินไว้แก่จำเลยทั้งสองและได้ขอไถ่ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ไถ่ทรัพย์ที่รับขายฝากไว้ ข้อที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีความผูกพันตามหนังสือสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน เมื่อคู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จะต้องโอนที่ดินที่ขายฝากให้จำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่จะต้องบังคับกันอีกต่างหาก ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไถ่ที่ดินที่ขายฝากรายนี้
พิพากษายืน