คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5937/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพังฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ตามแต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นรายๆไปเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามในส่วนของค่าปลงศพศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเป็นเงินจำนวน60,000บาทส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่1และที่2ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดให้คดีระหว่างจำเลยที่2กับโจทก์ที่1และที่2จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง พ. บิดาโจทก์ที่3ได้หย่าขาดจากผู้ตายและตกลงให้ผู้ตายเป็นผู้ปกครองโจทก์ที่3ดังนี้ผู้ตายจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่โจทก์ที่3ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ถึงแม้พ. จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูก็หาทำให้ผู้ตายหมดภาระหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่โจทก์ที่3ไม่จำเลยที่2จึงต้องรับผิดในส่วนนี้อยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน629,641 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่7 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 3 ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาจึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน247,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่7 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสามต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพังฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิด แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ตาม แต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป เกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามในส่วนของค่าปลงศพ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเป็นเงินจำนวน 60,000 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดให้ คดีระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเนื่องจากการตายของนางสมส่อง จิตต์ชอบธรรม ผู้ตายมิได้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำหรับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 3 นั้น นายพิทักษ์เบิกความว่าขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 3 มีอายุ 14 ปี เรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ของโรงเรียนเซ็นฟรังซิสซาเวียร์ยังต้องศึกษาต่ออีกเป็นเวลา 8 ปี จึงจะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านเป็นอย่างอื่น คงฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 ไม่เสียหายเนื่องจากนายพิทักษ์บิดาของโจทก์ที่ 3 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและหากเสียหายก็ไม่เกิน 50,000 บาท เห็นว่า นายพิทักษ์ได้หย่าขาดจากผู้ตายและตกลงให้ผู้ตายเป็นผู้ปกครองโจทก์ที่ 3ดังนี้ ผู้ตายจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่โจทก์ที่ 3 ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ถึงแม้นายพิทักษ์จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูก็หาทำให้ผู้ตายหมดภาระหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่โจทก์ที่ 3 ไม่ จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดในส่วนนี้อยู่
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 สำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2

Share