คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสียหาย มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งขึ้น 2 ชุดคณะกรรมการสอบสวนชุดแรกทำบันทึกเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและ ย. ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อผู้ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2527 ส่วนรายงานของคณะกรรมการชุดหลังได้มีการบันทึกเสนอ และ ย.ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ดำเนินการหลังจากนั้น ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ทราบความเสียหายและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน2527 ต่อมา ย. ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้กรมการปกครองโจทก์ที่ 2 ทราบความเสียหายและบุคคลผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2527 ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ปรากฏว่าทราบตัวต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อใด แต่ได้ความว่า ย.ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แจ้งผลการสอบสวนให้โจทก์ที่ 3 ทราบ จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 ทราบตัวผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหลังจากวันที่13 กันยายน 2527 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ครอบครองดูแลเก็บรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนจังหวัด สนับสนุนการป้องกันประเทศ โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคล กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งของโจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการบรรเทาภัยที่เกิดจากการกระทำของข้าศึก รักษาความสงบภายในป้องกันการจารกรรม โจทก์ที่ 2 ได้จัดซื้ออาวุธปืนลูกซองและกระสุนปืนลูกซองเพื่อจ่ายให้จังหวัดตามโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองโจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาวุธปืนลูกซองห้านัด 12 กระบอกซึ่งให้โจทก์ที่ 2 ยืมไปใช้ตามโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาอาวุธปืนและกระสุนปืนของโจทก์ทั้งสามไม่ให้สูญหายหรือเสียหาย จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งได้รับคำสั่งให้รับผิดชอบสายงานพลาธิการ มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกพลาธิการและจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ถือกุญแจห้องเก็บอาวุธปืนจำเลยทั้งสิบจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ขณะเกิดเหตุมีหน้าที่ต้องวางระเบียบในการเก็บรักษาอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน รวมทั้งการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ควบคุมดูแลสายงานพลาธิการ ได้ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมงานในหน้าที่พลาธิการทั้งหมดรวมทั้งการเก็บรักษาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไม่จัดทำบัญชีคุมอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน ไม่ได้วางระเบียบการควบคุมตรวจสอบ ไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 10 มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาความสะอาดอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ไม่ทำบัญชีคุม ไม่ได้ตรวจสอบเป็นระยะ ๆ เป็นเหตุให้อาวุธปืนและกระสุนปืนที่ฝากเก็บที่แผนกพลาธิการ กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ขาดหายไป ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 1,327,780 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 65,530 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การในทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งสามมิใช่เจ้าของทรัพย์ ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสิบมิได้ทำละเมิดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6ที่ 7 และที่ 9 กับโจทก์ทั้งสามตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 9ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 8 ชดใช้เงินคนละ 165,972.50 บาท จำเลยที่ 5ชดใช้เงิน 175,622.50 บาท จำเลยที่ 10 ชดใช้เงิน 184,006.10 บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 10 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรมศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้นางสาวกัญญาเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 5 ต่อมาจำเลยที่ 5 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 8 ชดใช้เงินคนละ 167,623.58 บาท จำเลยที่ 5 ชดใช้เงิน177,273.58 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 8 และที่ 10 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟังได้ว่า จำเลยที่ 8 และที่ 10 มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมดูแลรักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่แผนกพลาธิการรับฝากไว้โดยตรง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้ต่อไปว่า ขณะที่จำเลยที่ 8 ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ทำหลักฐานบัญชีควบคุมอาวุธปืน กระสุนปืนที่รับฝากให้เป็นที่เรียบร้อย ประตูห้องคลังอาวุธก็ปรากฏว่าปล่อยให้มีการเลื่อนขึ้นลงได้ขณะปิดใส่กุญแจ ดังนี้เมื่อปรากฏว่าอาวุธปืนและกระสุนปืนสูญหายไป จำเลยที่ 8 และที่ 10จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 และที่ 10 ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความแล้วหรือไม่ ได้ความจากนายยุทธผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามว่า เมื่อ พ.ศ. 2525 ได้รับรายงานจากจำเลยที่ 2ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ว่า อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่เก็บรักษาไว้ที่แผนกพลาธิการ กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์หายไปบางส่วนนายยุทธในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ จึงตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งขึ้น 2 ชุด กรรมการชุดแรกรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ตามหนังสือลงวันที่ 9 สิงหาคม 2527 กรรมการชุดหลังรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ตามหนังสือลงวันที่ 8 ตุลาคม 2527โดยแสดงข้อเท็จจริงถึงจำนวนอาวุธ เครื่องกระสุนปืนที่หาย และค่าเสียหาย รวมทั้งบุคคลที่จะต้องรับผิดชดใช้ สำหรับรายงานของคณะกรรมการชุดแรกนั้น นายประพจน์ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ทำบันทึกความเห็นลงวันที่ 7 กันยายน 2527 เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายยุทธในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งให้ดำเนินการกับผู้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และรายงานโจทก์ที่ 2ทราบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2527 ส่วนรายงานของคณะกรรมการชุดหลังนายประพจน์บันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่10 ตุลาคม 2527 นายยุทธในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้ดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2527ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ทราบความเสียหายและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2527 ต่อมานายยุทธในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบความเสียหายและบุคคลผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2527 ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ปรากฏว่าทราบตัวผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อใดแต่เมื่อฟังได้ว่านายยุทธผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์เป็นผู้แจ้งผลการสอบสวนให้โจทก์ที่ 3 ทราบตัวบุคคลที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหลังจากวันที่ 13 กันยายน 2527 โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 คดีของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ที่จำเลยที่ 8ฎีกาว่า เมื่อกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดแรกเสนอรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ตามหนังสือลงวันที่ 9 สิงหาคม 2527 จึงต้องฟังว่า โจทก์ที่ 1 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า รายงานดังกล่าวเป็นการเสนอเรื่องให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ส่วนโจทก์ที่ 1 จะทราบเมื่อใดเป็นอีกกรณีหนึ่ง เมื่อได้ความว่ามีการเสนอรายงานดังกล่าวตามลำดับและผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ทราบ และสั่งให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2527 จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 ทราบเรื่องในวันนั้น หาใช่วันที่ 9 สิงหาคม 2527 ดังที่จำเลยที่ 8ฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share