คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบ 2 ปาก คือ ว. และ พ. โดยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลแรงงานกลางได้บันทึกคำพยานของ ว. แล้วถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ประกอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงาน ว่าด้วย การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ข้อ 10 อนุญาตให้ ว. เบิกความเป็นพยานแล้วส่วน พ. ซึ่ง ว. เบิกความเกี่ยวพันถึง ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคำเบิกความของ พ. จะเป็นประโยชน์แก่คดีและอนุญาตให้จำเลยนำ พ. มาเบิกความเป็นพยาน ดังนี้ ถือได้ว่า พ. เป็นพยานของศาลตามความในมาตรา 45 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยย่อมรับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายครั้ง ต่อมาโจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบ อันเป็นการกระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันฟ้องจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าในการที่จำเลยนำพยานเข้าสืบ จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๔ ต้องถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบศาลจึงรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยไม่ได้ และที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานว่าจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม ๒ ปาก ได้แก่นายวิรัตน์ สวนสระน้อยผู้รับมอบอำนาจจากจำเลย และนายพีระ เชาว์นามล แม้จำเลยจะไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางก็ได้บันทึกคำพยานของนายวิรัตน์ ซึ่งเบิกความและอ้างถึงเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๕ จึงถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๔ ประกอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงาน ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ข้อ ๑๐ อนุญาตให้นายวิรัตน์ สวนสระน้อย เบิกความเป็นพยานแล้ว ส่วนนายพีระ เชาว์นามล ซึ่งนายวิรัตน์เบิกความเกี่ยวพันถึงนั้นศาลแรงงานกลางเห็นว่าถ้าให้นายพีระมาเบิกความต่อศาลจะเป็นประโยชน์แก่คดีและอนุญาตให้จำเลบยนำนายพีระมาเบิกความเป็นพยานได้ ดังนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคแรก บัญญัติว่า”เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” จึงถือได้ว่านายพีระ เชาว์นามล เป็นพยานของศาลตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้วพยานหลักฐานของจำเลยย่อมรับฟังได้ ทั้งคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยซึ่งนำสืบรับกันว่าตั้งแต่วันที่ ๒๙ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๙ โจทก์ยังได้ขอลากิจต่อจำเลยอยู่ และรับฟังจากโจทก์ที่เบิกความรับว่าในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันฟ้องโจทก์ได้ไปพบพนักงานจำเลยเพื่อเจรจาเรื่องที่ขอให้โจทก์ลาออกจากงาน มิใช่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเฉพาะจากพยานหลักฐานของจำเลยอันจะเป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share