คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5911/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน และมาตรา 34 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน เมื่อจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อโจทก์ อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามที่มาตรา 34 บัญญัติไว้ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันจะพึงมีในฐานะเป็นผู้ประกันตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกหนังสือรับรองเงินเดือนและรับรองให้โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย และให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคมโดยจัดส่งประกันสังคมและส่งรายชื่อขอเข้าประกันสังคมให้โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลย แต่ไม่รับในส่วนที่ขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง แล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้ 1. โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ 2. กรณีโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วจำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองเงินเดือนและนำส่งเงินประกันสังคมและส่งรายชื่อเข้าประกันสังคมให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่านายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายให้ต้องออกหนังสือรับรองเงินเดือนให้ลูกจ้าง และไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการเรียกร้องให้นายจ้างต้องปฏิบัติให้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ ส่วนการนำเงินส่งประกันสังคมและส่งรายชื่อเข้าประกันสังคมให้โจทก์นั้น จำเลยเป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้างและข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หากจำเลยมิได้ดำเนินการ สำนักงานประกันสังคมหรือโจทก์ก็มีอำนาจและสิทธิตามมาตรา 37 เรียกให้จำเลยดำเนินการยื่นแบบรายการที่มีชื่อโจทก์เป็นลูกจ้างได้ หากจำเลยโดยเจตนาไม่ยื่นแบบรายการก็มีบทกำหนดโทษไว้ตามมาตรา 96 แห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลจึงไม่จำต้องสั่งให้ตามคำขอโจทก์ในการให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน” และมาตรา 34 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน” เมื่อจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อโจทก์ อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามที่มาตรา 34 บัญญัติไว้ด้วย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันจะพึงมีในฐานะเป็นผู้ประกันตน ทั้งคำให้การของจำเลยก็มิได้ต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หากจำเลยเจตนาไม่ยื่นแบบรายการดังกล่าวก็มีโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่จำต้องสั่งให้ตามคำขอของโจทก์จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยยื่นแบบรายการโดยมีรายชื่อโจทก์เป็นผู้ประกันตนอยู่ด้วยตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดไว้ และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยเคยออกหนังสือรับรองการเป็นลูกจ้างและรับรองเงินเดือนให้โจทก์แล้วถึง 2 ครั้งจริงหรือไม่ ถ้อยคำในหนังสือมีอย่างไร เพียงพอแก่หน้าที่ของจำเลยแล้วหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี.

Share