คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 46 ที่บัญญัติไว้ว่า การเช่านารายใดซึ่งทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาหรือมีกำหนดเวลาต่ำกว่าหกปี ให้การเช่านารายนั้นมีกำหนดหกปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเว้นแต่ผู้เช่าไม่ประสงค์จะเช่านาต่อไป ย่อมหมายความว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแก่การเช่าที่ยังคงมีอยู่ในวันที่ 18 ธันวาคม 2517 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเท่านั้น ที่จะมีการยืดการเช่าออกไปได้แต่ถ้าหากการเช่านาระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าสิ้นสุดลงแล้วก่อนวันที่ 18 ธันวาคม 2517 ก็จะนำมาตรา 46 นี้มาใช้บังคับไม่ได้เพราะในขณะที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านามีผลใช้บังคับนั้น ไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่านาเหลืออยู่ที่จะยืดออกไปอีกได้
เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยเข้าไปไถทำนาในที่นาที่ผู้เสียหายเช่าจากจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าในวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา ผู้เสียหายยังเป็นผู้เช่าทำนาจากจำเลยอยู่ แต่เมื่อจำเลยได้ต่อสู้มาแต่ชั้นสอบสวนว่า สัญญาระหว่าง ผู้เสียหายกับจำเลยสิ้นสุดโดยความตกลงของคู่สัญญา มิได้รับในประเด็นข้อนี้ เมื่อโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานเสียแล้วเช่นนี้ คดีก็ยังไม่พอที่จะรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28(4), 45

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตได้บุกรุกเข้าไปในที่นาซี่งนายเอกเช่าจากจำเลยในขณะที่การเช่านายังมีกำหนดเวลาเช่าอยู่ตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ทั้งนี้ เพื่อถือเอาการครอบครองที่นาทั้งหมด และเข้าไปไถนาปลูกข้าวลงในที่นานั้น เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนายเอกโดยปกติสุขและทำให้นายเอกได้รับประโยชน์จากนาที่เช่าลดน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในการเช่านา และน้อยกว่าสิทธิที่ผู้เช่านามีอยู่ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28(4), 45 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาในทางอาญาที่จะกระทำผิดฐานบุกรุกและจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายไม่มีสิทธิเช่านาต่อไปแล้ว และเรื่องสิทธิของผู้เสียหายจะมีสิทธิเช่านาจำเลยต่อไปหรือไม่นั้น เป็นเรื่องในทางแพ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 46ที่มีลักษณะพิเศษ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28(4), 45 ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับวินิจฉัย จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 45 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ให้ปรับ 100 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคม 2517 และตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 46 ซึ่งบัญญัติว่า การเช่านารายใดซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาหรือมีกำหนดเวลาต่ำกว่าหกปีให้การเช่านารายนั้นมีกำหนดหกปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเว้นแต่ผู้เช่าไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปนั้น ย่อมหมายความว่าพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่การเช่าที่ยังคงมีอยู่ในวันที่ 18 ธันวาคม 2517 เท่านั้น ที่จะให้มีการยืดการเช่าออกไปได้ แต่ถ้าหากการเช่านาระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าสิ้นสุดลงแล้ว ก่อนวันที่ 18 ธันวาคม 2517 ก็จะนำมาตรา 46 นี้มาใช้บังคับไม่ได้เพราะในขณะที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านามีผลใช้บังคับนั้น ไม่มีกำหนดเวลาการเช่านาเหลืออยู่ที่จะยืดออกไปอีกได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยเข้าไปไถทำนาในที่นาที่ผู้เสียหายเช่าจากจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าในวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา ผู้เสียหายยังเป็นผู้เช่าทำนาจากจำเลยอยู่ กล่าวคือ ยังมีการเช่านาระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 มีผลบังคับ คือ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2517 อันจะทำให้ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดอาญาแล้ว จริงอยู่ จำเลยได้แถลงรับว่าสัญญาเช่านาตามเอกสารหมาย จ.1 มีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2517ถึงวันที่ 1 มกราคม 2518 แต่ในเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์อ้างส่งก็ปรากฏอยู่ว่าจำเลยได้ต่อสู้แต่แรกเป็นใจความว่า จำเลยได้บอกเลิกการเช่านากับผู้เสียหายแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2517 และว่าผู้เสียหายก็รับว่าจะไม่ทำนาแล้ว แต่หากเมื่อมีกฎหมายควบคุมการเช่านาออกมาใช้บังคับผู้เสียหายจึงกลับมาขอเช่านาทำอีก ซึ่งแสดงว่าจำเลยได้ปฏิเสธมาแต่แรกในชั้นสอบสวนว่าสัญญาการเช่านาระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยได้สิ้นสุดลงไปแล้วด้วยความตกลงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็มิได้รับในประเด็นข้อนี้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังฟ้อง ไม่ติดใจนำสืบพยานเสียแล้วเช่นนี้ คดีจึงยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28(4), 45

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28(4), 45 เสียด้วย

Share