แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาซื้อกล้องเล็งแบบเอ็ม 53 เอ 1 พร้อมอุปกรณ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ย. ประเทศอังกฤษ จากจำเลย กำหนดเวลาส่งมอบสิ่งของภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 แต่การส่งออกจากประเทศอังกฤษ บริษัทผู้ผลิตต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอังกฤษก่อน หลังจากทำสัญญา จำเลยได้สั่งซื้อสิ่งของดังกล่าวจากบริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้ผลิตยื่นคำร้องขออนุญาตส่งออกต่อรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศไทยรัฐบาลอังกฤษจึงยังไม่อนุญาตให้ส่งสิ่งของดังกล่าวมายังประเทศไทยในช่วงนั้น เมื่อจำเลยสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต ในวันที่ 3 มิถุนายน 2535 บริษัทผู้ผลิตแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทั้งที่ได้พยายามติดตามเรื่องตลอดมา จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ทราบ หลังจากนั้นจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์อีกว่าได้เร่งรัดบริษัทผู้ผลิตแล้วและจะเร่งรัดให้ส่งของมาโดยด่วนต่อไป และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2535 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์อีกครั้งว่า ยังคงเร่งรัดบริษัทผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องดังนี้ แม้ตามสัญญาซื้อขายฉบับพิพาทจะมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาว่า การส่งสิ่งของตามสัญญาต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษก่อน แต่ตามสภาพของสิ่งของตามสัญญาซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางทหารต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งจากบริษัทในประเทศอังกฤษและต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษจึงจะสามารถส่งสิ่งของมายังประเทศไทยได้การขออนุญาตส่งออกบริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ขอใบอนุญาตส่งออก จำเลยผู้ขายได้เร่งรัดให้รีบส่งสิ่งของมาให้ทันตามกำหนดในสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษจึงยังไม่อนุญาตให้ส่งสิ่งของมายังประเทศไทยในช่วงนั้น ทำให้การออกใบอนุญาตส่งออกต้องล่าช้าออกไปกว่าปกติถึง 5 สัปดาห์หรือ 35 วัน จึงมีการอนุญาต พฤติการณ์ที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ได้จนถึงวันที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา หลังครบกำหนดส่งมอบตามสัญญาเพียง22 วัน ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 205 และจำเลยได้แจ้งเหตุพร้อมหลักฐานเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบแล้วโดยแจ้งว่าจะส่งสิ่งของให้ทันทีเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการขอขยายเวลาการส่งมอบออกไป ซึ่งนับว่าได้ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาแล้วจำเลยจึงมิใช่เป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเลิกสัญญาซื้อขายที่พิพาท