แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ตามสัญญาซื้อขายจะมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าการส่งสิ่งของตามสัญญาต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษก่อน แต่ตามสภาพของสิ่งของตามสัญญาเป็นอุปกรณ์ทางทหารซึ่งต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งจากบริษัทในประเทศอังกฤษ และต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษจึงจะสามารถส่งสิ่งของมายังประเทศไทยได้ การขออนุญาตส่งออกบริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ขอใบอนุญาตส่งออก จำเลยที่ 1 ได้เร่งรัดให้รีบส่งสิ่งของมาให้ทันตามกำหนดในสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษจึงยังไม่อนุญาตให้ส่งสิ่งของมายังประเทศไทยในช่วงนั้น ทำให้การออกใบอนุญาตส่งออกต้องล่าช้าออกไปกว่าปกติถึง 5 สัปดาห์ หรือ 35 วัน โดยเพิ่งมีการอนุญาตเมื่อวันที่ 23มิถุนายน 2535 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ได้จนถึงวันที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 9 กรกฎาคม 2535 หลังครบกำหนดส่งมอบเพียง 22 วัน ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเหตุแห่งความล่าช้าพร้อมหลักฐานเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบหลายฉบับแล้ว แม้จะไม่มีข้อความขอขยายเวลาการส่งมอบออกไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะส่งสิ่งของให้ทันทีเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษก็ถือได้ว่าเป็นการขอขยายเวลาการส่งมอบออกไป นับว่าได้ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นผู้ผิดนัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายกล้องเล็ง แบบเอ็ม 53เอ 1 พร้อมอุปกรณ์ครบชุด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทยูไนเต็ด ไซเอ็นทิฟิค อินสทรูเม็นท์จำกัด ประเทศอังกฤษแก่โจทก์ในราคาชุดละ 89,900 บาท จำนวน 100 ชุด กำหนดเวลาส่งมอบภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เมื่อครบกำหนดเวลาส่งมอบจำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบ โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามสัญญากับได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือจากโจทก์แล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 899,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 9 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 83,496.16 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 395,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 9 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 36,738.31 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ไม่ได้ตามกำหนดเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม2535 รัฐบาลอังกฤษจึงไม่ออกใบอนุญาตให้ส่งสิ่งของอันเป็นพฤติการณ์ที่มิได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับและเงินประกันสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์นั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยอีกทั้งโจทก์ก็เคยผ่อนผันให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลาการส่งมอบสิ่งของและโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม2534 โจทก์ทำสัญญาซื้อกล้องเล็งแบบเอ็ม 53 เอ 1 พร้อมอุปกรณ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทยูไนเต็ด ไซเอ็นทิฟิค อินสทรูเม็นท์ จำกัด ประเทศอังกฤษ จากจำเลยที่ 1 กำหนดเวลาส่งมอบสิ่งของภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2535 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าว ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 สิ่งของที่ทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวใช้สำหรับประกอบกับอาวุธปืนใหญ่และปืน ค. ดังนั้น การส่งออกจากประเทศอังกฤษ บริษัทผู้ผลิตต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอังกฤษก่อน หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสิ่งของดังกล่าวจากบริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้ผลิตยื่นคำร้องขออนุญาตส่งออกต่อรัฐบาลอังกฤษต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษจึงยังไม่อนุญาตให้ส่งสิ่งของดังกล่าวมายังประเทศไทยในช่วงนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 สอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต ในวันที่ 3 มิถุนายน 2535 บริษัทผู้ผลิตมีโทรสารถึงจำเลยที่ 1 กล่าวขออภัยที่ตอบล่าช้าพร้อมกับแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทั้งที่ได้พยายามติดตามเรื่องตลอดมา ในวันที่ 4 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าบริษัทผู้ผลิตได้แจ้งมาว่ากำลังรอใบอนุญาตส่งออกอยู่ ได้รับอนุญาตแล้วจะจัดส่งมาให้ต่อไป พร้อมกับแนบโทรสารของบริษัทผู้ผลิตไปกับหนังสือดังกล่าว ตามเอกสารหมาย ล.3 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์อีกว่าได้เร่งรัดบริษัทผู้ผลิตแล้วและจะเร่งรัดให้ส่งของมาโดยด่วนต่อไป ตามเอกสารหมาย จ.4 และเมื่อวันที่ 9กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์อีกครั้งว่า ยังคงเร่งรัดบริษัทผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องตามเอกสารหมาย จ.5 ในวันเดียวกันโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2535 สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือยืนยันว่า ในเหตุการณ์ปกติรัฐบาลอังกฤษสามารถออกใบอนุญาตส่งออกสิ่งของที่ซื้อขายกันตามสัญญานี้ภายใน 10 สัปดาห์ นับแต่ได้รับคำร้องแต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้ ทำให้การส่งออกมายังประเทศไทยต้องล่าช้าออกไปจนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2535 เป็นเวลา 12 สัปดาห์ นับแต่วันได้รับคำร้องตามหนังสือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษแนบท้ายเอกสารหมาย ล.11 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามสัญญาพิพาทมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า การส่งสิ่งของต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษก่อน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ได้สิ่งของมาส่งมอบให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญา และจำเลยที่ 1ทราบดีว่าการส่งมอบสิ่งของต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษก่อน การได้รับอนุมัติหรือไม่ จึงมิใช่พฤติการณ์อันไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งสิ่งของตามสัญญาได้ภายในกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยและตามสัญญาข้อ 4 มีข้อความชัดเจนระบุถึงกรณีเหตุสุดวิสัยหรือพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายผู้ขายต้องแจ้งเหตุหรือพฤติการณ์ดังกล่าวพร้อมหลักฐานเป็นหนังสือให้ผู้ซื้อทราบเพื่อขอขยายเวลาการส่งมอบออกไป ถ้าผู้ขายไม่ปฏิบัติให้ถือว่าผู้ขายสละสิทธิเรียกร้องในการขยายเวลาการส่งสิ่งของออกไปโดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติและเอกสารหมาย ล.3 ล.4 และ ล.5 ไม่มีข้อความใดที่จะแสดงให้ทราบว่า ขอขยายเวลาส่งของโดยไม่มีเงื่อนไข จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์มีคำขอบอกเลิกสัญญาได้เห็นว่าแม้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 จะมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาว่าการส่งสิ่งของตามสัญญาต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษก่อน แต่ตามสภาพของสิ่งของตามสัญญาข้อ 1 เอกสารหมาย จ.4 เป็นอุปกรณ์ทางทหารซึ่งต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งจากบริษัทในประเทศอังกฤษ และต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษจึงจะสามารถส่งสิ่งของมายังประเทศไทยได้ การขออนุญาตส่งออกบริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ขอใบอนุญาตส่งออก จำเลยที่ 1 ได้เร่งรัดให้รีบส่งสิ่งของมาให้ทันตามกำหนดในสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษจึงยังไม่อนุญาตให้ส่งสิ่งของมายังประเทศไทยในช่วงนั้น ทำให้การออกใบอนุญาตส่งออกต้องล่าช้าออกไปกว่าปกติถึง 5 สัปดาห์ หรือ 35 วัน โดยเพิ่งมีการอนุญาต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2535พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ได้จนถึงวันที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 9 กรกฎาคม 2535 หลังครบกำหนดส่งมอบเพียง 22 วัน ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเหตุพร้อมหลักฐานเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.3, ล.4, ล.5 และ ล. 12 แล้ว โดยแจ้งว่าจะส่งสิ่งของให้ทันทีเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษอันถือได้ว่าเป็นการขอขยายเวลาการส่งมอบออกไปนับว่าได้ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาข้อ 4 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นผู้ผิดนัด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน