คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เวลากลางคืนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญานั้นกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าเป็นคืนของวันไหน จึงต้องถือตามประกาศนับเวลาในราชการ ซึ่งให้นับวันเป็น 24 ชั่วนาฬิกา เริ่มต้นแต่ศูนย์นาฬิกาเป็นต้นไป
มีของต้องแจ้งปริมาณไว้ตั้งแต่เวลา 3.00 น. ของวันที่ 3 ไปแจ้งปริมาณในวันที่ 5 เดือนนั้น ถือว่ายังไม่เกินกำหนด 2 วัน

ย่อยาว

จำเลยได้น้ำตาลมาเมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2489 ได้ไปแจ้งปริมาณในวันที่ 5 มกราคม 2489 โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บภายในกำหนด 2 วัน เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรมการจังหวัด ซึ่งออกตามอำนาจในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ฎีกา อ้างว่าเวลา 3.00 น. ของวันที่ 3 ต้องนับว่าเป็นคืนวันที่ 2 ตามกฎหมายอาญา มาตรา 6(24)

ศาลฎีกาเห็นว่า เวลากลางคืนตามกฎหมาย มาตรา 6(24) นั้นกฎหมายมิได้บัญญัติว่าเป็นคืนของวันไหน ประกาศนับเวลาในราชการท่านให้นับวันเป็น 24 ชั่วนาฬิกาเริ่มต้นแต่ศูนย์นาฬิกาคือภายหลัง 24.00 น. เป็นต้นไป ฉะนั้นเวลา 3.00 น. ของวันที่ 3 จึงต้องนับเป็นวันที่ 3 ตามคำพิพากษาฎีกา 586/2490 ส่วนการนับกำหนดเวลาเริ่มแรก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 บัญญัติไว้ว่ามิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวนเข้าด้วย กำหนดวันที่จำเลยไปแจ้งปริมาณจึงไม่ช้ากว่า 2 วัน

Share