คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5888/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตามมาตรา 23 และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมฯ มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดตามมาตรา 23นั้นเป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต ส่วนความผิดตามมาตรา 26 เป็นความผิดเพราะจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม แม้จะได้รับหรือไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม การที่จำเลยปรับจูนเอาคลื่นความถี่หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้อื่นมาใช้กับเครื่องที่จำเลยมีไว้โดยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
การที่จำเลยมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและปรับจูนคลื่นความถี่แล้วให้บุคคลอื่นเช่าใช้รับส่งสัญญาณติดต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากจะเป็นการจงใจทำให้เกิดการรบกวนการติดต่อวิทยุคมนาคมของผู้อื่นแล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แท้จริงอีกด้วยจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และจำเลยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมรับและส่งสัญญาณและเสียงติดต่อกับผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตโดยให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้โดยนำเอาคลื่นความถี่ ซึ่งผู้มีชื่อเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้มาปรับเข้าไว้ในเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมโดยมิชอบแล้วจำเลยให้บุคคลผู้เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวรับและส่งสัญญาณและเสียงติดต่อกับผู้อื่น โดยใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว อันเป็นการจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้มีชื่อ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23, 26 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 และริบของกลางทั้งหมดโดยให้ริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2598 มาตรา 4, 6 (ที่ถูกมาตรา 6วรรคหนึ่ง), 22, 23, 26 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน ฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม จำคุก 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก6 เดือน ริบของกลางทั้งหมดเฉพาะเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยอุทธรณ์ให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ลงโทษฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุเพียงบทเดียว จำคุก6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้วคงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 23 และ 26 มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และการกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือความผิดตามมาตรา 23 นั้น เป็นความผิด เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต ส่วนความผิดตามมาตรา 26นั้น เป็นความผิดเพราะจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ความผิดฐานนี้แม้จำเลยจะมีโทรศัพท์มือถือโดยได้รับหรือไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม หากจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ก็คือการที่จำเลยปรับจูนเอาคลื่นความถี่หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้อื่นมาใช้กับเครื่องที่จำเลยมีไว้โดยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 26 แยกต่างหากอีกกรรมหนึ่ง ถึงแม้ปัญหานี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยเกินกว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2กำหนดไว้

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูล่าจำนวนถึง 3 เครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต และปรับจูนคลื่นความถี่แล้วให้บุคคลอื่นเช่าใช้รับส่งสัญญาณติดต่อกับผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น นอกจากจะเป็นการจงใจทำให้เกิดรบกวนการติดต่อวิทยุคมนาคมของผู้อื่นแล้วยังทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แท้จริงอีกด้วย จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23, 26 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share