คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5865/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยจับศีรษะผู้ตายกระแทกกับเนินดินจอมปลวกและใช้ไม้ตีจนกะโหลกแตกละเอียด น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในทันทีเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนเท่านั้น มิใช่เพื่อให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งขาดใจตาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฆ่าผู้ตายโดยกระทำทารุณโหดร้ายตาม ป.อ. มาตรา 289 (5) แต่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนตาม ป.อ. มาตรา 289 (7)
คำรับสารภาพของจำเลยอันจะถือเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานของโจทก์ จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ , ๒๘๘ , ๒๘๙ , ๓๑๗ , ๙๑ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๙ (๕) (๗) , ๒๗๗ วรรคสอง , ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ให้ประหารชีวิต ฐานกระทำชำเราเด็กหญิง (อายุยังไม่เกินสิบสามปี) ให้จำคุกตลอดชีวิต และฐานพรากผู้เยาว์ (ที่ถูกฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี) ให้จำคุก ๒๐ ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยเพียงสถานเดียวตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ (๓) คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน แต่ให้ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า วิธีการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการกระทำโดยทารุณโหดร้ายหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ ได้ความตามทางพิจารณาว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนกับเจ้าพนักงานแพทย์โรงพยาบาลละหานทรายได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พบว่าผู้ตายถูกไม้ตีที่ศีรษะจนกะโหลกแตกละเอียดและยุบ และที่เนินดินจอมปลวกเหนือศพผู้ตายมีรอยยุบลักษณะถูกศีรษะคนกระแทก แต่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยได้กระทำการทารุณโหดร้ายผู้ตายอย่างไรบ้าง เพราะโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็น การที่จำเลยจับศีรษะผู้ตายกระแทกกับเนินดินจอมปลวกและใช้ไม้ตีศีรษะผู้ตายจนกะโหลกแตกละเอียด น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในทันที เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนเท่านั้น มิใช่เพื่อให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งขาดใจตาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฆ่าผู้ตายโดยกระทำทารุณโหดร้ายตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๙ (๕) ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้คงฟังเป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนอันเป็นความผิด ป.อ. มาตรา ๒๘๙ (๗) ซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวเช่นเดิม
ส่วนกรณีมีเหตุสมควรลดโทษประหารชีวิตให้จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ คงเหลือโทษจำคุกสถานเดียวหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คดีนี้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่คำรับสารภาพของจำเลยอันจะถือเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงจะพิจารณาลดโทษที่ลงแก่จำเลยได้ การพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์มีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานพฤติเหตุแวดล้อมแน่นหนามั่นคง แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ศาลก็ได้อาศัยพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริง และพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยอีก ทั้งตามรูปคดีที่โจทก์นำสืบก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน อันเป็นรอยเลือดของผู้ตายที่ติดอยู่ตามร่างกายและเสื้อผ้าของจำเลยชุดที่จำเลยสวมใส่อยู่ในขณะถูกจับกุมภายหลังเกิดเหตุใหม่ ๆ หาใช่รับสารภาพเพราะสำนึกในความผิดไม่… ทั้งตามรูปคดีที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ อันเป็นพยานวัตถุและพยานแวดล้อมโดยอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยแต่อย่างใด ดังนี้ คำรับสารภาพของจำเลยทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาในกรณีเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ อันจะพึงลดโทษให้แก่จำเลยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดต่อชีวิต จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๙ (๗) ส่วนกำหนดโทษให้คงเดิม และเมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดกระทงอื่นของจำเลยมารวมอีกได้ คงให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว ทั้งนี้โดยไม่ปรับบทตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ (๓) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share