คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5860/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่ลูกจ้างออกไปดื่มสุรานอกบริเวณโรงงานตั้งแต่เวลา22 ถึง 24 นาฬิกา จะเป็นการละทิ้งหน้าที่อันเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายแต่เมื่อข้อบังคับของนายจ้างมิได้กำหนดว่าเป็นความผิดอันมีโทษถึงปลดออก ไล่ออกแสดงว่านายจ้าง มิได้ถือ ว่าเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุนี้จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง อย่างไรก็ดีการกระทำดังกล่าว เป็นการ “ละทิ้งการงานไปเสีย” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 นายจ้างจึงไม่ต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย และโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แต่จำเลยมิได้จัดให้โจทก์หยุด จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ด้วย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 เวลาประมาณ 22 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาทำงานของโจทก์ โจทก์กับพวกได้ร่วมกันละทิ้งหน้าที่โดยพากันออกไปดื่มสุรา เมื่อหัวหน้างานมาพบและให้กลับไปทำงาน โจทก์ไม่สามารถทำงานได้ เพราะอยู่ในลักษณะมึนเมา จำเลยต้องปิดเครื่องพิมพ์ซึ่งโจทก์ประจำทำงานนั้นการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยไม่สามารถทำกล่องกระดาษส่งแก่ลูกค้าได้ทัน ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกค้า จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่าย พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยออกไปดื่มสุรานอกบริเวณโรงงานตั้งแต่เวลาประมาณ 22 นาฬิกาถึงเวลาประมาณ24 นาฬิกา จะเป็นเหตุให้จำเลยต้องปิดเครื่องพิมพ์บางเครื่องและทำให้จำเลยได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อบังคับของจำเลยก็มิได้กำหนดโทษลูกจ้างฐานละทิ้งงานในระหว่างเวลาทำงาน เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงหรือมีโทษถึงขั้นปลดออกไล่ออกสถานเดียว แสดงว่ากรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดฐานละทิ้งงานในระหว่างเวลาทำงาน จำเลยมิได้ถือว่าเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 บัญญัติให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างจงใจขัดขืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นอาจิณหรือละทิ้งการงานไปเสีย หรือกระทำผิดอย่างร้ายแรง ฯลฯ ดังนั้น การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยออกไปดื่มสุรานอกบริเวณโรงงานก็ถือว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการลอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share