คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5858/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน จะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยดำเนินการทวงหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 นั้น สิทธิเรียกร้องของจำเลยต้องมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เพราะเหตุว่าเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่ว่าจะพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตามจำเลยย่อมไม่มีอำนาจจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเอง อำนาจดังกล่าวตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 6,22,24

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526 ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม ผู้คัดค้านเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นจำนวน3,808,901.20 บาท อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ผู้คัดค้านจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วเห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำนวน 2,426,332.45 บาท จึงมีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 2,426,332.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยต่อผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งศาลให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดได้มีการประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์และลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ถือว่าบุคคลทั่วไปได้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยทั้งสามแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดแล้วเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 การชำระหนี้ตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องต้องชำระคืนในฐานลาภมิควรได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาหลายประการแต่ก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้อง เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าผู้คัดค้านมีอำนาจดำเนินการทวงหนี้จากผู้ร้องตามมาตรา 119แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ดำเนินการทวงหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้นั้น สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1จะต้องมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเอง อำนาจดังกล่าวตกอยู่แก่ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 จำเลยที่ 1ย่อมหมดอำนาจที่จะกระทำการด้วยตนเองได้ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่ผู้คัดค้านอ้างคือ จำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้แก่ผู้ร้องเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1กระทำการล่วงละเมิดอำนาจของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 24 ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วคืนเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่ใช่หนี้ที่เกิดก่อนพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 2,426,332.45 บาท แก่ผู้คัดค้านได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้

Share