คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เมื่อหักแล้วต้องนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 52 และในการตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้น เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ยื่นบัญชีจ่ายเงินได้หรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวให้ปฏิบัติตามภายใน 15 วัน ตามมาตรา 51 แห่ง ป.รัษฎากร จึงเป็นกรณีที่ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร และสิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเรียกเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบพบว่าโจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่ครบถ้วนและแจ้งให้โจทก์นำส่งให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระค่าหุ้นจาก น. ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 การที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระค่าหุ้นดังกล่าว แต่กลับลงบัญชีว่าได้ชำระแล้ว เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเสมือนให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยและโจทก์จะอ้างการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1121 อันเป็นเรื่องการบอกกล่าวให้ชำระค่าหุ้นเป็นเหตุให้ถือว่าผู้ถือหุ้นยังไม่ต้องเสียดอกเบี้ยไม่ได้ด้วย
โจทก์นำเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีบางส่วนไปใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงาน รายจ่ายดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจ แต่ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4
เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาว่าโจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่ามูลค่าคงเหลือตามบัญชีหรือไม่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินในปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในปัญหาดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) มาตรา 8 ประกอบ ป.รัษฎากร มาตรา 30
คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้ระบุว่าโจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ คงบรรยายเพียงว่าโจทก์คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไรเท่านั้น การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจึงถือว่ายุติ แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งยุติแล้วกลับเป็นไม่ยุติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ไม่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนเติมมูลค่า แต่ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นเติมมูลค่าถือเป็นการกระทำโดยจงใจ และการที่โจทก์ให้กรรมการและพนักงานกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุสมควร นั้น มิใช่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์ กรณีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามหนังสือที่ ตส. 2/03012040/1/000001 การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือที่ ตส. 2/03012040/2/000002 และการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามหนังสือที่ ตส. 2/03012040/6/000001 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ศภญ. (อธ. 3)/95/2545 เลขที่ ศภญ. (อธ. 3)/96/2545 เลขที่ ศภญ. (อธ. 3)/97/2545 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2545 และขอให้งดเรียกเก็บเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 มีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปีภาษี 2539 จำนวน 569,093.76 บาท และเงินเพิ่ม 529,257.19 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,098,350.95 บาท ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เมื่อหักแล้วต้องนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร และในการตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ยื่นบัญชีจ่ายเงินได้หรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวให้ปฏิบัติตามภายใน 15 วัน ตามมาตรา 51 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร และสิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเรียกเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบพบว่า โจทก์นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วนและแจ้งให้โจทก์นำส่งให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินรายได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 เห็นว่าผู้ถือหุ้นของโจทก์ชำระไม่ครบถ้วนนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระเงินค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวจากนางนุชนาฎผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ตามมาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่โจทก์ยังมิได้รับชำระเงินค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวจากผู้ถือหุ้น แต่โจทก์กลับลงบัญชีว่าได้ชำระแล้วย่อมเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นนั้นเสมือนการให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย และโจทก์จะกลับมาอ้างการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1120 ถึง 1121 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องมีการบอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นก่อนจึงเป็นเหตุให้ถือว่าผู้ถือหุ้นต้องเสียดอกเบี้ยอีกไม่ได้ ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ประเมินรายได้ดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนที่โจทก์ยังมิได้รับชำระจากผู้ถือหุ้นแต่ลงบัญชีว่าได้รับชำระแล้วจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า รายจ่ายดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,910,082.29 บาท เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีที่การไฟฟ้านครหลวงออกให้โจทก์สำหรับการชำระค่าไฟฟ้าเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2539 ระบุสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นสถานที่เดียวกันกับที่โจทก์เช่าจากบริษัทรวมทุนไทย จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่คนละแห่งกับอาคารโรงงานที่โจทก์อ้างว่าสร้างเสร็จแล้วในเดือนมิถุนายน 2539 ฉะนั้น ที่โจทก์อ้างว่าอาคารโรงงานของโจทก์ก่อสร้างเสร็จและเริ่มใช้งานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2539 จึงไม่น่าเชื่อ ดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2539 จึงมิใช่รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจ แต่ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4 การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 เฉลี่ยดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีและนำมารวมเป็นต้นทุนอาคารโรงงานในการหักค่าเสื่อมราคานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินกรณีโจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่ามูลค่าคงเหลือตามบัญชีหรือไม่ เห็นว่า ตามคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาว่าโจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่ามูลค่าคงเหลือตามบัญชีหรือไม่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินในปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในปัญหาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) มาตรา 8 ประกอบประมวลรัษฎากร มาตรา 30 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ตามคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้ระบุว่าโจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะอย่างไร คงบรรยายเพียงว่า โจทก์คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไรเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาภาษีธุรกิจเฉพาะที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องพิจารณา การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจึงถือว่ายุติ แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และศาลภาษีอากรกลางจะวินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งยุติแล้วกลับไม่ยุติ เมื่อการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะยุติแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า กรณีมีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีเงินได้นิตบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ไม่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนเต็มมูลค่า แต่ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นเต็มมูลค่า ถือเป็นการกระทำโดยจงใจ และการที่โจทก์ให้กรรมการและพนักงานกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้นมิได้เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์ที่เจ้าพนักงานประเมินลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะโดยให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นชอบด้วยนั้นเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share