คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5852/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ยังมิได้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา คดีก็ย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ ช. เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ คำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ ช.ทายาทของโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะได้ ระยะเวลาบอกล้างโมฆียะกรรมไม่ใช่อายุความ จึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191(เดิม) ที่จะย่นเข้าไม่ได้ เมื่อจำเลยผู้รับประกันชีวิตสมัครใจยอมลดระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมจากกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 865 วรรคสอง ลงมาเป็นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น ตามคำร้องขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตมีข้อความว่าหลังจากครบ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตจำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือบอกเลิกข้อผูกพันในกรมธรรม์ฉบับนี้แต่ประการใด ซึ่งข้อความดังกล่าวผูกพันจำเลย เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้อนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2527 จำเลยจึงต้องบอกล้างเสียในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 ฉะนั้นเมื่อจำเลยเพิ่งบอกล้างเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 จึงเป็นการมิได้บอกล้างโมฆียะกรรมเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน2527 จำเลยจึงต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2525 นายครรชิต ไชยาคมได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยเป็นจำนวนเงินประกัน 500,000 บาทมีกำหนดระยะเวลาประกัน 20 ปี หากผู้เอาประกันชีวิตตายภายในกำหนดระยะเวลาประกันชีวิต จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวนเงิน 500,000 บาท และทุนประกันจะเพิ่มไปตามระยะเวลาตามที่เอาประกันไว้ โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ดังกล่าว ต่อมานายครรชิตถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2529 อันเป็นช่วงระยะเวลาอยู่ในระหว่างการคุ้มครองและมีผลบังคับของกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวจำเลยจะต้องจ่ายเงินที่เอาประกันชีวิตให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน530,000 บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสาเหตุแห่งการตายของนายครรชิตผู้เอาประกันชีวิต เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529เพื่อขอรับเงินประกันชีวิตจากจำเลย จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ อ้างว่าได้บอกล้างกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวแล้วการบอกเลิกสัญญาของจำเลยมิได้บอกล้างภายในกำหนดระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันที่โจทก์ได้แจ้งรายละเอียดสาเหตุแห่งการตายของผู้เอาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันชีวิตทราบมูลอันจะบอกล้างได้จึงถือว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับไปตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้เงินจำนวน 537,949.92 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 530,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2525 นายครรชิตไชยาคม ได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาประกัน 20 ปี แต่เมื่อครบกำหนดชำระในวันที่ 30 มิถุนายน 2527นายครรชิตไม่ชำระเบี้ยปรับและขาดชำระเกินกว่ากำหนดระยะเวลา90 วัน ซึ่งตามระเบียบของจำเลย กรมธรรม์ประกันชีวิตจึงขาดอายุหากนายครรชิตประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตต่อ นายครรชิตจะต้องลงนามในแบบฟอร์มขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตปฏิบัติตามเงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ นายครรชิตต้องเปิดเผยข้อความจริงหรือไม่แถลงความเท็จเกี่ยวกับสุขภาพเช่นเดียวกันกับตอนที่จะทำสัญญาประกันชีวิตครั้งแรก แต่นายครรชิตลงนามในแบบฟอร์มขอต่ออายุกรมธรรม์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 โดยรับรองสุขภาพว่าไม่เคยเจ็บป่วยหรือมีสุขภาพทรุดโทรมแต่บางประการใด และในขณะลงนามมีสุขภาพดีทั้งที่นายครรชิตรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน รวมทั้งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหากนาครรชิตให้ถ้อยแถลงตามความเป็นจริงแล้ว จำเลยจะบอกปัดไม่ต่ออายุกรมธรรม์หรือทำสัญญาประกันชีวิตได้ การต่ออายุกรมธรรม์หรือสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะกรรม จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่านายครรชิตถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2529 จำเลยได้ทำการสอบสวนพิสูจน์มรณกรรมตามวิธีการของจำเลยเมื่อจำเลยทราบถึงสาเหตุแห่งการที่สัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียกรรมจำเลยก็ได้ปฏิเสธความรับผิดและบอกล้างกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวโดยชัดแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่30 มกราคม 2530 และคืนเบี้ยประกันให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน44,804.52 บาท โดยโจทก์ได้รับไปแล้ว สัญญารับประกันชีวิตก็ดีการต่ออายุกรมธรรม์ของนายครรชิตก็ดี การต่ออายุกรมธรรม์ของนายครรชิตก็ดี จึงตกเป็นโมฆะ คือเสียเปล่าตั้งแต่เริ่มแรกโจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินประกันชีวิตหรือสินไหมมรณกรรม จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 530,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2529เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าระหว่างที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยแล้ว แต่ยังมิได้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา นายชัยยะ ไชยาคมยื่นคำร้องว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534นายชัยยะเป็นบุตรโจทก์และเป็นทายาทจึงขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยแล้ว คดีย่อมอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้นายชัยยะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และศาลฎีกาได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมาแล้วได้ความว่า นายชัยยะเป็นทายาทของโจทก์ จึงอนุญาตให้นายชัยยะเข้าเป็นคู่ความโจทก์ผู้มรณะได้
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยมิได้ลงนามยอมรับปฏิบัติตามเงื่อนไขในคำร้องขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตเอกสารหมาย ล.18คณะกรรมการของจำเลยพิจารณารับต่ออายุให้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2527 ตามเอกสารหมาย ล.19 แต่มิได้มีข้อความยืนยันว่าจำเลยยอมรับและจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำหนดในคำขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตแต่อย่างใด เงื่อนไขในเอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย เห็นว่า เอกสารหมาย ล.18 เป็นแบบฟอร์มของจำเลยเอง จำเลยได้เห็นและพิจารณาข้อความในเอกสารหมาย จ.18 ที่ว่าหลังจากครบ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตจำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือบอกเลิกข้อผูกพันในกรมธรรม์ฉบับนี้แต่อย่างใดก่อนที่จะอนุมัติแล้ว ฉะนั้น จำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมรับผิดตามข้อความในเอกสารหมาย ล.18 ไม่ได้ จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง เป็นอายุความต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 (เดิม)เห็นว่าระยะเวลาบอกล้างโมฆียะกรรมไม่ใช่อายุความจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 (เดิม) ที่จะย่นเข้าไม่ได้ เมื่อจำเลยสมัครใจยอมลดระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมจากกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 865วรรคสอง ลงมาเป็นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตจำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยเพิ่งทราบข้อเท็จจริงอันจะเป็นเหตุบอกล้างโมฆียะกรรมได้ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 ตามหนังสือโรงพยาบาลตำรวจเอกสารหมาย ล.35 จำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมในวันที่ 30มกราคม 2530 จึงไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.18 มีข้อความว่า หลังจากครบ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตจำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือบอกเลิกข้อผูกพันในกรมธรรม์ฉบับนี้แต่ประการใด ซึ่งข้อความดังกล่าวผูกพันจำเลยดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้อนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 ปรากฏตามเอกสารหมายล.19 จำเลยจึงต้องบอกล้างเสียภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529ฉะนั้น เมื่อจำเลยเพิ่งบอกล้างเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 จึงเป็นการมิได้บอกล้างโมฆียะกรรมเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน2527 จำเลยจึงต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว
พิพากษายืน

Share