คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5839/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการประชุมใหญ่ประธานที่ประชุมไม่ได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นพิจารณาและไม่มีการลงมติในเรื่องที่ประชุมและไม่มีการอ่านข้อความที่เลขานุการที่ประชุมได้บันทึกไว้คงมีเพียงผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมและเลขานุการที่ประชุมสนทนากันเพียงเบา ๆและบันทึกข้อความเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งโจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นได้โต้แย้งคัดค้านและขอสำเนาบันทึกการประชุม แต่ประธานที่ประชุมปฏิเสธและกล่าวปิดประชุมทันที เท่ากับโจทก์ยอมรับว่ามีการลงมติกัน ไปตามบันทึกการประชุมดังกล่าว เป็นเพียงการบรรยายฟ้องกล่าวถึงวิธีการประชุมที่ไม่ชอบทั้งตอนท้ายของคำฟ้องยังกล่าวยืนยันว่าการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533และมติของที่ประชุมฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 เสียจึงไม่มีประเด็นว่า การประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533ที่ประชุมได้มีการลงมติหรือไม่ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดการกำหนดประเด็นของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1197 วรรคสองกำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ส่งสำเนางบดุลให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทก่อนรับนัดประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน หากบริษัทใดฝ่าฝืนต้องรับโทษตาม พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิฯ มาตรา 18(2) ฉะนั้นโจทก์กับจำเลย จะตกลงปฏิบัติต่อกันให้แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1197 วรรคสองไม่ได้ เมื่อจำเลยมิได้ส่งสำเนางบดุลไปยังผู้ถือหุ้นของบริษัททุกคนรวมทั้งโจทก์ก่อนรับนัดประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน การลงมติในการประชุมในระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองงบการเงินจึงไม่ชอบโจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนเสียได้ โจทก์ขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่หลายเหตุและได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แต่โจทก์ถอนอุทธรณ์ดังกล่าวและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์นั้นแล้วทั้งโจทก์มิได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์เหตุดังกล่าวจึงมิใช่ข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2533ของจำเลยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และมติที่ประชุมใหญ่ในวันดังกล่าวเป็นโมฆะขอให้เพิกถอนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2533 และมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว
จำเลยให้การว่าการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2533เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ถือหุ้นของจำเลยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มคนไทยรวมทั้งโจทก์ซึ่งมีนายเทพพงษ์ อัครบวร เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการถือหุ้นร้อยละ 16 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดกับกลุ่มชาวต่างประเทศถือหุ้นร้อยละ 84 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด กรรมการของจำเลยมี 5 คน เป็นชาวต่างประเทศ นายเกอร์ริต-แจน บารส์เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2534จำเลยโดยนายเกอร์ริต-แจน บารส์ ได้มีหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 โดยเปลี่ยนแปลงวันประชุมจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2534 เป็นวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 เวลา 8.30 นาฬิกา ณ สำนักงานของจำเลยตามหนังสือพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.7/1 ก่อนวันนัดประชุม 3 วัน จำเลยไม่ได้สำเนางบดุลให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นอื่น ในหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นมีเรื่องพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม 4 ข้อซึ่งข้อ 2 มีว่ารับรองงบการเงินประจำปี 2533
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของโจทก์มีว่าการที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่า การประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 ที่ประชุมได้มีการลงมติหรือไม่เป็นการไม่ชอบหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในการประชุมใหญ่ดังกล่าวประธานที่ประชุมไม่ได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นพิจารณาและไม่มีการลงมติในเรื่องที่ประชุม ทั้งตามคำแก้อุทธรณ์โจทก์ยืนยันว่าไม่มีการประชุมกันตามวาระการประชุม และไม่มีการออกเสียงลงมติในที่ประชุม ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวแต่อย่างใดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2533จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ได้กล่าวในคำฟ้องตอนหนึ่งว่า ในการประชุมในวันที่ 30 กรกฎาคม 2534ประธานที่ประชุมไม่ได้ชี้แจงสอบถามและเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นพิจารณาและไม่มีการลงคะแนนหรือลงมติในเรื่องที่ประชุมและไม่มีการอ่านข้อความที่เลขานุการที่ประชุมได้บันทึกไว้ แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมและเลขานุการที่ประชุมสนทนากันเพียงเบา ๆ และบันทึกข้อความเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งโจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นได้โต้แย้งคัดค้านและขอสำเนาบันทึกการประชุม แต่ประธานที่ประชุมปฏิเสธและกล่าวปิดประชุมทันทีดังนี้เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าการประชุมได้มีการลงมติกันไปตามบันทึกการประชุมดังกล่าวข้อความในคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวถึงวิธีการประชุมที่ไม่ชอบเท่านั้นเพราะตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวยืนยันว่าการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 และมติของที่ประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 ซึ่งนัดประชุมวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 เสียซึ่งข้อนี้จำเลยให้การว่า ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นซึ่งนัดประชุมวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 ได้พิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระการประชุมและมีการลงมติตามวาระชอบด้วยกฎหมายแล้วแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาในคำฟ้องของโจทก์เป็นอย่างดีคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533ที่ประชุมได้มีการลงมติหรือไม่ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนด การกำหนดประเด็นในชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 ได้มีการประชุมและลงมติแล้ว
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อมามีว่า การที่จำเลยไม่ส่งสำเนางบดุลให้โจทก์และผู้ถือหุ้นอื่นก่อนวันนัดประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1197 วรรคสอง บัญญัติว่า”อนึ่ง ให้ส่งสำเนางบดุลไปยังบุคคลทุกคนบรรดามีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่ก่อนวันนัดประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่าบริษัทจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งสำเนางบดุลให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นตรวจดูผลการประกอบการว่าจำเลยมีหนี้สินและสินทรัพย์อะไรบ้าง จำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ทราบถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ ถ้าหากบริษัทใดฝ่าฝืนไม่ส่งสำเนางบดุลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทนั้นจะได้รับโทษอาญาตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 18(2)ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท โจทก์กับจำเลยจะตกลงยินยอมที่จะปฏิบัติต่อกันให้แตกต่างไปจากมาตรา 1197 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้ไม่ กรณีไม่มีเหตุใด ๆที่กรรมการของจำเลยจะกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ส่งสำเนางบดุลให้ผู้ถือหุ้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือจะส่งงบดุลให้ผู้ถือหุ้นในวันประชุมใหญ่สำหรับที่โจทก์ฎีกาว่ารายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 ตามเอกสารหมาย ล.5 จำเลยมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้มีการประชุมและมติที่ประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์โจทก์กลับไม่อ้างรายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 จากจำเลยทั้ง ๆ ที่โจทก์อ้างได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อจำเลยอ้างส่งรายงานการประชุมใหญ่เอกสารหมาย ล.5ซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีแม้จำเลยมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน แต่ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ศาลย่อมรับฟังเอกสารหมาย ล.5ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)จากรายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยครั้งที่ 1/2534เอกสารหมาย ล.5 ปรากฏว่า ประธานที่ประชุมได้เสนอเรื่องงบการเงินประจำปี 2533 ซึ่งอยู่ในระเบียบวาระการประชุมข้อ 2 ให้ที่ประชุมพิจารณาและประธานที่ประชุมขอการรับรองจากที่ประชุมเพื่อรับรองงบการเงินประจำปี 2533 ซึ่งจัดทำโดยผู้ตรวจสอบบัญชี เนื่องจากเหตุผลซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีปีก่อน ๆสำหรับการรับรองงบการเงิน ที่ประชุมมีมติเห็นพ้องต้องกันในการรับรองงบกำไรขาดทุนปี 2533 แต่ไม่รับรองงบดุล ดังนี้แม้จะแสดงว่าเรื่องงบการเงินตามระเบียบวาระการประชุมข้อ 2ได้มีการพิจารณาและลงมติโดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศซึ่งถือหุ้นรวมกันร้อยละ 84 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยและที่ประชุมมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่รับรองงบกำไรขาดทุนประจำปี 2533 แต่ไม่รับรองงบดุลก็ตามแต่งบกำไรขาดทุนย่อมเกี่ยวโยงและผูกพันถึงงบดุลของจำเลยณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2533 อยู่ด้วยและมติของที่ประชุมที่ได้รับรองงบกำไรขาดทุนอยู่ในระเบียบวาระเดียวกันกับวาระพิจารณางบดุลเมื่อจำเลยมิได้ส่งสำเนางบดุลดังกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ก่อนวันนัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1197 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมาตรา 18(2) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 การลงมติในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองงบการเงินประจำปี 2533จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ในระเบียบวาระที่ 2 เสียได้
ที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนการประชุมใหญ่ทุกเรื่องซึ่งที่ประชุมพิจารณาทุกระเบียบวาระการประชุมนั้น เห็นว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่หลายเหตุ แต่เหตุที่โจทก์อ้างว่าการประชุมใหญ่ไม่ได้ทำหนังสือบอกกล่าวเรื่องระเบียบวาระการประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ตามข้อบังคับของจำเลยก็ดีไม่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายใน 120 วัน นับแต่วันปิดบัญชีบริษัทก็ดี และประธานที่ประชุมปฏิบัติไม่ชอบก็ดี แม้โจทก์จะได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์แต่ต่อมาโจทก์ได้ขอถอนอุทธรณ์ดังกล่าวและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์นั้นแล้วทั้งโจทก์มิได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะยกเหตุนั้นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยเหตุดังกล่าวได้เพราะมิใช่ข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์บางส่วนฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 ของจำเลย ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2534เฉพาะระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองงบการเงินประจำปี 2533เท่านั้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share