แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแก้ไขวันเดือนปีเกิดของข้าราชการในสมุดประวัติข้าราชการหรือในก.พ.7ของข้าราชการตำรวจอยู่ในบังคับของมาตรา10แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจพ.ศ.2521ที่ให้ก.ตร.เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจก.ตร.จึงเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขวันเดือนปีเกิดของข้าราชการตำรวจและในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของก.ตร.ดังกล่าวพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจพ.ศ.2521มาตรา19ให้ก.ตร.มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการให้ทำการใดๆแทนได้ซึ่งรวมถึงการอนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการตำรวจด้วยการที่อนุกรรมการก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งซึ่งแต่งตั้งโดยก.ตร.ให้มีอำนาจหน้าที่อนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการตำรวจได้พิจารณาและไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่25กันยายน2475เป็นวันที่29กันยายน2479ในการประชุมอนุกรรมการก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งครั้งที่6/2528เมื่อวันที่24เมษายน2528จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีกฎหมายรองรับดังกล่าวและการที่จำเลยที่1ไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่25กันยายน2475เป็นวันที่29กันยายน2479จึงเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งที่ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลักฐานการศึกษาจากโรงเรียนสองแห่งอันได้แก่หลักฐานการศึกษาของโรงเรียนเสนา”เสนาประสิทธิ์”(ม.1)และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา (ม.6)ระบุว่าโจทก์เกิดวันที่29กันยายน2477ซึ่งเป็นปีเกิดที่แตกต่างออกไปจากข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างและวันเดือนปีเกิดของส. น้องชายโจทก์ตามทะเบียนบ้านระบุว่าเกิดวันที่16มีนาคม2480ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากวันเดือนปีเกิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพียง5เดือนเศษขัดกับหลักเกณฑ์ทางการแพทย์และโจทก์ไม่สามารถจัดส่งสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดของโจทก์หรือน้องชายของโจทก์มาประกอบการพิจารณาได้สมุดประวัติข้าราชการของโจทก์ก็ระบุว่าโจทก์จบจากโรงเรียนประทีปศึกษาชั้นป.1พ.ศ.2484แสดงว่าโจทก์จบชั้นประถมศึกษาปีที่1เมื่ออายุ5ขวบซึ่งหมายความว่าโจทก์เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1เมื่ออายุเพียง4ขวบซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ดังนั้นที่อนุกรรมการก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งมีมติไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยเหตุผลและมีพยานหลักฐานสนับสนุนทั้งชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับแก่กรณีมติของอนุกรรมการก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า มติของจำเลยที่ 2 และที่ 3ที่ไม่อนุมัติให้โจทก์แก้วันเดือนปีเกิดจากวันที่ 25 กันยายน 2475ตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำ เป็นวันที่ 29 กันยายน 2479 ตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำ นั้นไม่ถูกต้องและให้แก้ให้ถูกต้องตามความจริงว่าโจทก์เกิดวันที่ 29 กันยายน 2479 ตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1 แก้วันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นจากวันที่ 25 กันยายน 2475 ตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำ ให้ตรงกับความเป็นจริงเป็นวันที่ 29 กันยายน 2479 ตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วให้รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสภาพเป็นบุคคล จึงให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มติของ ก.ตร. และคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งที่ไม่อนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการตำรวจของโจทก์ และใน ก.พ.7 นั้นชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องแก้ไขวันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการตำรวจของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าวันเดือนปีเกิดของโจทก์ที่ระบุไว้ในสมุดประวัติข้าราชการหรือ ก.พ.7 ของโจทก์จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจริง การที่จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับตำแหน่ง (อนุกรรมการก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่ง) มีมติไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการ หรือ ก.พ.7 ของโจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าโจทก์เกิดวันที่ 29 กันยายน 2479 มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับตำแหน่ง(อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่ง) ที่ไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดจึงไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1แก้วันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่ 25 กันยายน 2475 ซึ่งตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำ เป็นวันที่29 กันยายน 2479 ซึ่งตรงกับปีชวด 3 ฯ 11 ค่ำ หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เดิมโจทก์ใช้ชื่อว่าจินตนา ต่อมาขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นสันติในปี2495 ตามเอกสารหมาย จ.23 โจทก์เป็นข้าราชการตำรวจโดยเริ่มรับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2496 และโอนมารับราชการตำรวจเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2501 ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ระบุว่าโจทก์เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2475และระบุวันเดือนปีทางจันทรคติว่า ชวด 3 ฯ 11 ค่ำ ซึ่งหมายถึงปีชวดวันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ส่วน ก.พ.7 ของโจทก์เอกสารหมายล.7 ระบุว่าโจทก์เกิดวันที่ 25 กันยายน 2475 เมื่อปี 2515 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึงอธิบดีกรมตำรวจว่าเจ้าหน้าที่ทะเบียนกรมตำรวจได้คัดประวัติวันเดือนปีเกิดของโจทก์เมื่อครั้งโอนมารับราชการที่กรมตำรวจผิดพลาด โดยคัดประวัติจากเกิดวันที่ 29 กันยายน 2479 เป็นวันที่ 25 กันยายน 2475 จึงขอให้แก้ไขให้ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานเสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนพิจารณาไม่แล้วเสร็จจนมีประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติในมาตรา 10 ให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจและในมาตรา 19 ให้ก.ตร. มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการให้ทำการใด ๆ แทนได้ก.ตร. ได้ออกประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเรื่องแต่งตั้งอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่ง ให้อนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งมีอำนาจทำการแทน ก.ตร. ในเรื่องต่าง ๆที่ระบุไว้ รวมทั้งอนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดใน ก.พ.7ของข้าราชการตำรวจตามเอกสารหมาย ล.18 และ ก.ตร.ได้ออกระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ตามเอกสารหมาย ล.17วางระเบียบการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจไว้ในข้อ 4ว่าให้ยึดถือวันเดือนปีเกิดที่ลงไว้ใน ก.พ.7 ฉบับที่เก็บรักษาไว้ที่ก.ตร. หรือหน่วยงานที่ ก.ตร. มอบหมายเป็นหลักบานในการควบคุมเกษียณอายุ และวันเดือนปีเกิดของข้าราชการที่ลงไว้ใน ก.พ.7ฉบับดังกล่าวนี้ จะแก้ไขอีกไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก ก.ตร.ก่อน และในข้อ 7 ระบุว่าการขอแก้ไขวันเดือนปีเกิดใน ก.พ.7ของข้าราชการตำรวจนั้น กรมตำรวจจะต้องส่งสูติบัตร (ทะเบียนคนเกิด)ไปประกอบการพิจารณาของ ก.ตร. แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะหาหลักฐานดังกล่าวได้ก็จะต้องส่งหลักฐานอื่น ๆ ที่ระบุไว้ไปประกอบการพิจารณา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการรวบรวมและตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์จากส่วนราชการต่าง ๆเสนออธิบดีกรมตำรวจเพื่อเสนออนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่ง ปรากฏว่า หลักฐานเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์มีทั้งระบุว่าโจทก์เกิดวันที่ 25 กันยายน 2475 วันที่ 29 กันยายน2477 และวันที่ 29 กันยายน 2479 หลักฐานที่ระบุว่าโจทก์เกิดวันที่25 กันยายน 2475 คือสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์และ ก.พ.7ของโจทก์ หลักฐานที่ระบุว่าโจทก์เกิดวันที่ 29 กันยายน 2477คือหลักฐานการศึกษาโรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์” หลักฐานการสอบไล่ ต.2 ก โรงเรียนเทเวศร์ศึกษาและหลักฐานที่ระบุว่าโจทก์เกิดวันที่ 29 กันยายน 2479 คือหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน 2 ฉบับหลักฐานประวัตินายสิบพลทหาร ทบ.100-011 และหลักฐานทะเบียนกองประจำการ (สด.3) เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเสนอว่ากรณีน่าจะมีข้อเคลือบคลุมไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้โดยชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่าวันเดือนปีเกิดที่ระบุไว้ใน ก.พ.7 จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจริงสมควรเสนอ ก.ตร. พิจารณาไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการตามที่โจทก์ขอ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นมีคำสั่งให้ดำเนินการตามที่เสนอตามเอกสารหมาย ล.21 และต่อมาได้เสนอให้อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 6/2528 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2528ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักฐานไม่ครบถ้วนตามระเบียบก.ตร. ว่าด้วยการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจพ.ศ.2521 ข้อ 7 คือขาดหลักฐานการศึกษาเบื้องต้นของโรงเรียนประทีปวิทยาและโรงเรียนศิริศึกษา (ชั้น ป.1 ถึง ป.4) ประกอบกับหลักฐานการศึกษาของโรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์” (ม.1) และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา (ม.6) ระบุปีเกิดไม่ตรงกับปีเกิดที่ขอแก้ไขและวันเดือนปีเกิดของพี่และน้องขัดกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์ จึงมีมติไม่อนุมัติตามเอกสารหมาย ล.23 หลังจากที่จำเลยที่ 1แจ้งให้โจทก์ทราบเกี่ยวกับมติของอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งที่ไม่อนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่ 25 กันยายน 2475 เป็นวันที่29 กันยายน 2479 ตามคำขอของโจทก์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่30 ตุลาคม 2528 โจทก์ได้ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึงอธิบดีกรมตำรวจอีกว่า ได้ตรวจค้นพบหลักฐานแสดงวันเดือนปีเกิดของโจทก์ซึ่งบิดาได้จดบันทึกไว้รวมกับพี่น้องทุกคนโดยบันทึกว่าโจทก์เกิดวันที่ 29 กันยายน 2477 และโจทก์ได้หลักฐานการศึกษาจากโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์”และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา ปรากฏว่าโจทก์เกิดวันที่29 กันยายน 2477 ตรงกันจึงขอแก้วันเดือนปีเกิดของโจทก์เป็นวันที่ 29 กันยายน 2477 ตามเอกสารหมาย ล.24 แผ่นที่ 2เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอว่าเนื่องจากมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขวันเดือนปีเกิดในทะเบียนประวัติข้าราชการ พ.ศ. 2527 ใช้บังคับแก่ข้าราชการตำรวจด้วยการพิจารณาจึงต้องดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวประกอบกับระเบียบก.ตร.ว่าด้วยการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 ซึ่งได้ยกเลิกระเบียบ ก.ตร. ว่่าด้วยการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 และเห็นว่าตามหลักฐานของส่วนราชการที่โจทก์นำส่งมาประกอบการพิจารณาตามข้อ 7 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขวันเดือนปีเกิดในทะเบียนประวัติข้าราชการ พ.ศ. 2527 เมื่อได้ทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วยังไม่อาจพิสูจน์ได้โดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าวันและปีเกิดของโจทก์ที่ระบุไว้ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและเห็นควรไม่อนุมัติ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นได้เสนอให้ ก.ตร. พิจารณาตามเอกสารหมาย ล.28 อนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 2/2530 เมื่อวันที่28 มกราคม 2530 แล้วเห็นว่าหลักฐานที่โจทก์ส่งมาเพื่อประกอบการพิจารณามีเพียง 2 รายการเท่านั้นที่ระบุวันเดือนปีเกิดของโจทก์ว่าเป็นวันที่ 29 กันยายน 2477 คือหลักฐานการศึกษาจากโรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์” และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษานอกจากนั้นยังขาดหลักฐานการศึกษาจากโรงเรียนประทีปวิทยาและโรงเรียนศิริศึกษา ทำให้ไม่สามารถแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่าวันและปีเกิดที่ระบุในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจริงและมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขตามคำขอ ตามเอกสารหมาย ล.30 และได้แจ้งมติอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งดังกล่าวให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.32
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ต้องแก้ไขวันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่ 25 กันยายน 2475 เป็นวันที่ 29 กันยายน 2479 หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า วันเดือนปีเกิดของข้าราชการที่ระบุในสมุดประวัติข้าราชการมีผลต่อการเกษียณอายุของข้าราชการที่เป็นเจ้าของประวัติเพราะการนับปีเกษียณอายุของข้าราชการย่อมคำนวณจากวันเดือนปีเกิดที่ระบุในสมุดประวัติข้าราชการของข้าราชการผู้นั้นการแก้ไขวันเดือนปีเกิดของข้าราชการในสมุดประวัติข้าราชการย่อมมีผลกระทบต่อการเกษียณอายุของข้าราชการที่เป็นเจ้าของประวัติเช่นกัน ดังนั้น การแก้ไขวันเดือนปีเกิดของข้าราชการในสมุดประวัติข้าราชการและ/หรือใน ก.พ.7 ของข้าราชการตำรวจ จึงอยู่ในบังคับของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ที่บัญญัติให้ ก.ตร. เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ ก.ตร.จึงเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขวันเดือนปีเกิดของข้าราชการตำรวจและในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของก.ตร. ดังกล่าว พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521มาตรา 19 ให้ ก.ตร. มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการให้ทำการใด ๆแทนได้ ซึ่งรวมถึงการอนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการตำรวจด้วย การที่อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งซึ่งแต่งตั้งโดย ก.ตร. ให้มีอำนาจหน้าที่อนุมัติให้แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการตำรวจได้พิจารณาและไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่ 25 กันยายน 2475 เป็นวันที่ 29 กันยายน 2479ในการประชุมอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งครั้งที่ 6/2528เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2528 จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีกฎหมายรองรับดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จากวันที่ 25 กันยายน 2475 เป็นวันที่ 29 กันยายน 2479จึงเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งที่ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยเหตุนี้จึงมีข้อที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า มติขออนุกรรมการก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่ง ครั้งที่ 6/2528 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2528เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความว่าสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ระบุว่าโจทก์เกิดวันที่25 กันยายน 2475 และใต้ข้อความดังกล่าวมีข้อความว่า ชวด 3 ฯ 11 ค่ำซึ่งโจทก์นำสืบว่าหมายถึงปีชวด วันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11(ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2479) และใน ก.พ.7 ของโจทก์เอกสารหมาย ล.7 ระบุว่า เกิดวันที่ 25 กันยายน 2475 ไม่ได้ลงวันเดือนปีเกิดทางจันทรคติซึ่งตามเอกสารทั้ง 2 ฉบับลงลายมือชื่อของโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของประวัตินอกจากนี้ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ระบุว่าเริ่มเข้าราชการการชั้นโรงเรียนนายร้อยพระจุมจอมเกล้าตำแหน่งนักเรียนนายร้อยกรมยุทธศึกษาทหารบก กระทรวงกลาโหม วันที่ 1 มีนาคม 2496 อายุ 20 ปี5 เดือน 6 วัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ระบุว่าเกิดวันที่ 25 กันยายน 2475ดังนั้นจึงต้องถือว่าโจทก์รับรองในสมุดประวัติข้าราชการและ ก.พ.7เอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 ว่าโจทก์เกิดวันที่ 25 กันยายน 2475อันเป็นวันเดือนปีเกิดของโจทก์ในการรับราชการตำรวจและการเกษียณอายุราชการของโจทก์ที่เป็นเจ้าของประวัติจึงต้องถือตามวันเดือนปีเกิดที่ระบุในสมุดประวัติข้าราชการและใน ก.พ.7 ของโจทก์ดังกล่าว เมื่อโจทก์เห็นว่าข้อความที่เกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดระบุไม่ถูกต้องโจทก์จึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอแก้ไขเป็นวันที่29 กันยายน 2479 ซึ่งอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งได้มีมติไม่อนุมัติให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดตามที่ร้องขอก็เพราะพิจารณารายงานของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามที่อธิบดีกรมตำรวจเสนอแล้วมีความเห็นว่าหลักฐานไม่ครบถ้วนตามระเบียบก.ตร.ว่าด้วยการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521ข้อ 7 คือขาดหลักฐานการศึกษาเบื้องต้นของโรงเรียนประทีปวิทยาและโรงเรียนศิริศึกษา (ชั้น ป.1 ถึง ป.4) ประกอบกับหลักฐานการศึกษาของโรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์” (ชั้น ม.1) และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา (ชั้น ม.6) ระบุปีเกิดไม่ตรงกับปีเกิดที่ขอแก้ไขและวันเดือนปีเกิดของพี่และน้องขัดกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์ที่โจทก์ขอแก้ไข ดังนี้เห็นว่า การขอแก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการและ ก.พ.7 ของโจทก์ดังกล่าวจะต้องถือปฏิบัติตามระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้บังคับในขณะที่ดำเนินการพิจารณาคำขอของโจทก์และตามระเบียบดังกล่าวในข้อ 4 ให้ยึดถือวันเดือนปีเกิดที่ลงไว้ใน ก.พ.7 ฉบับที่เก็บรักษาไว้ที่ ก.ตร. หรือหน่วยงานที่ ก.ตร. มอบหมายเป็นหลักฐานในการควบคุมเกษียณอายุ และวันเดือนปีเกิดของข้าราชการที่ลงไว้ในก.พ.7 ฉบับดังกล่าวนี้จะแก้ไขอีกไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. ก่อน และในข้อ 7 ระบุว่า การขอแก้ไขวันเดือนปีเกิดใน ก.พ.7 ของข้าราชการตำรวจนั้น จำเลยที่ 1จะต้องส่งสูติบัตร (ทะเบียนคนเกิด) ไปประกอบการพิจารณาของ ก.ตร. หรืออนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งแล้วแต่กรณี แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะหาหลักฐานดังกล่าวได้ก็จะต้องส่งหลักฐานดังต่อไปนี้ไปประกอบการพิจารณา (1) หนังสือรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เก็บรักษาสูติบัตร(ทะเบียนคนเกิด) แจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่อาจหาสูติบัตรให้ได้และ (2)หลักฐานทะเบียนท้องถิ่นได้แก่ทะเบียนบ้าน และ (3) หลักฐานการศึกษาได้แก่ใบสุทธิหรือประกาศนียบัตรหรือทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกแห่งที่ผู้นั้นเคยศึกษา และ (4) หลักฐานทะเบียนทหารได้แก่ ทะเบียนทหารกองเกินหรือทะเบียนทหารกองประจำการหรือทะเบียนทหารนอกประจำการ (เฉพาะข้าราชการตำรวจชาย)ตามระเบียบดังกล่าวหลักฐานสำคัญที่จะใช้พิจารณาของ ก.ตร. หรืออนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งแล้วแต่กรณีจึงได้แก่สูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดซึ่งเป็นหลักฐานของทางราชการฉบับแรกเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งแสดงถึงวันเดือนปีของบุคคลและสภาพบุคคลการใช้หลักฐานอื่นที่มีความสำคัญในลำดับรองลงมาจะทำได้เฉพาะกรณีเป็นการพ้นวิสัยที่จะหาสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดได้ อีกทั้งจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อ 7(1) ถึง (4) กรณีของโจทก์นี้ไม่มีสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดของโจทก์ซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่จะหาสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดได้และหลักฐานตามข้อ 7(1) ถึง (4) ไม่ครบถ้วน คือขาดหลักฐานการศึกษาเบื้องต้นของโรงเรียนที่โจทก์ศึกษาสองแห่งคือขาดหลักฐานการศึกษาเบื้องต้นของโรงเรียนประทีปวิทยาและโรงเรียนศิริศึกษา(ชั้น ป.1 ถึง ป.4) อีกทั้งหลักฐานการศึกษาของโรงเรียนเสนา”เสนาประสิทธิ์” (ม.1) และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา (ม.6)ระบุปีเกิดว่าปี 2477 ไม่ตรงกับปีเกิดที่โจทก์ขอแก้ไขคือปี 2479และวันเดือนปีเกิดของพี่และน้องขัดกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์ผู้ขอแก้ไข กล่าวคือ วันเดือนปีเกิดของนางวิไลวรรณ งามวัฒน์พี่สาวโจทก์ในทะเบียนบ้านระบุว่าเกิดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2475ขัดกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์ที่ระบุในสมุดประวัติข้าราชการและในก.พ.7 คือวันที่ 25 กันยายน 2475 เพราะพี่และน้องมีอายุห่างกันเพียง 5 เดือนเศษ และวันเดือนปีเกิดของนายสุขสันต์ มลิทองน้องชายโจทก์ ระบุว่าเกิดวันที่ 16 มีนาคม 2480 ไม่ขัดกับวันเดือนปีเกิดของโจทก์ใน ก.พ.7 แต่ขัดกับวันเดือนปีเกิดที่ขอแก้ไขใหม่คือวันที่ 29 กันยายน 2479 เพราะพี่และน้องจะอายุต่างกันเพียง5 เดือนเศษจากหลักฐานดังกล่าวนี้อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งได้นำมาเป็นเหตุผลวินิจฉัยว่ากรณียังไม่พอฟังว่าวันเดือนปีเกิดของโจทก์ที่ระบุไว้ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์เป็นวันเดือนปีเกิดที่ลงไว้โดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนและวันเดือนปีเกิดของโจทก์ตามที่โจทก์ขอแก้เป็นวันเดือนปีเกิดของโจทก์ที่ถูกต้องแท้จริง ซึ่งพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาของศาลก็เป็นพยานเอกสารชุดเดียวกับที่โจทก์ยื่นต่ออนุกรรมการ ก.ตร. ศาลฎีกาได้ตรวจสอบแล้ว หลักฐานการศึกษาจากโรงเรียนสองแห่งอันได้แก่หลักฐานการศึกษาของโรงเรียนเสนา”เสนาประสิทธิ์” (ม.1) และโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา (ม.6)เอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ระบุว่า โจทก์เกิดวันที่ 29 กันยายน 2477ซึ่งเป็นปีเกิดที่แตกต่างออกไปจากข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้าง และวันเดือนปีเกิดของนายสุขสันต์ มลิทอง น้องชายโจทก์ตามทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.20 ระบุว่าเกิดวันที่ 16 มีนาคม 2480 ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากวันเดือนปีเกิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพียง 5 เดือนเศษขัดกับหลักเกณฑ์ทางการแพทย์และโจทก์ไม่สามารถจัดส่งสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดของโจทก์หรือน้องชายของโจทก์มาประกอบการพิจารณาได้สมุดประวัติข้าราชการของโจทก์เอกสารหมายล.6 หน้าที่ 2 ก็ระบุว่าโจทก์จบจากโรงเรียนประทีปศึกษาชั้น ป.1พ.ศ. 2484 แสดงว่าโจทก์จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่ออายุ 5 ขวบซึ่งหมายความว่า โจทก์เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่ออายุเพียง 4 ขวบซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นที่อนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับตำแหน่งมีมติไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขวันเดือนปีเกิดในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยเหตุผลและมีพยานหลักฐานสนับสนุนทั้งชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับแก่กรณีมติของอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีกจำเลยที่ 1 ไม่ต้องแก้ไขวันเดือนปีเกิดของโจทก์ในสมุดประวัติข้าราชการของโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์ สำหรับ จำเลย ที่ 1