คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5838/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยซ่อมได้อยู่กับจำเลยนานถึง 1 ปีเศษ ถือได้ว่าผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยครอบครองทรัพย์นั้นไว้ จำเลยถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ให้บุคคลอื่นหรือนำไปขาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334, 357 เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอก ตามที่พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 115,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 115,800 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 นายทวีผู้เสียหายนำรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ป – 2291 สุราษฎร์ธานี ของผู้เสียหายไปซ่อมลูกสูบ เคาะปะผุและทำสีรถใหม่ที่อู่สุชาติการช่างของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยได้ถอดเครื่องยนต์และอะไหล่รถยนต์ของผู้เสียหายออกจนหมดโดยไม่ได้ซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2542 ผู้เสียหายร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดเครื่องอะไหล่รถยนต์เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีนายทวีผู้เสียหายเบิกความว่า ในช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุ พยานนำรถยนต์ของพยานไปให้จำเลยซ่อมที่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่เกิดเหตุ ครั้งแรกให้จำเลยซ่อมลูกสูบ ต่อมาให้จำเลยเคาะปะผุและทำสีรถใหม่ด้วย ตกลงค่าซ่อมรวม 60,000 บาท พยานชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว 14,000 บาท หลังจากนั้นพยานไปดูรถที่อู่ซ่อมรถที่เกิดเหตุหลายครั้ง ปรากฏว่าอะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ของพยานถูกถอดออกไปเรื่อย ๆ จนหมด สอบถามจำเลย จำเลยบอกว่า ล้อรถทั้งสี่ล้อญาติของจำเลยเอาไป วิทยุในรถลูกน้องของจำเลยเอาไป และกระบะหลังจำเลยขายไปแล้ว ส่วนอะไหล่อื่น ๆ จำเลยเก็บไว้ข้างบ้าน พยานไปดูข้างบ้านพบว่า อะไหล่รถยนต์ของพยานหายไปหลายชิ้น นายนุรักษ์พี่ชายของผู้เสียหายเบิกความว่า พยานไปดูรถที่อู่ซ่อมรถที่เกิดเหตุกับผู้เสียหายพบว่าไม่มีการซ่อมรถของผู้เสียหายและอะไหล่รถยนต์ของผู้เสียหายได้หายไปบางส่วน จำเลยรับว่า อะไหล่รถยนต์ของผู้เสียหายบางส่วนได้ขายเป็นเศษเหล็ก บางส่วนให้ญาติของจำเลยไป และบางส่วนนำไปซ่อมรถยนต์คันอื่น เห็นว่า ผู้เสียหายและนายนุรักษ์เบิกความสอดคล้องต้องกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสอบสวนจำเลยเบิกความว่า ชั้นสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพ คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองยังสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายและนายนุรักษ์ให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ส่วนจำเลยคงมีแต่จำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งจำเลยยังได้เบิกความยอมรับว่าได้นำกระบะรถยนต์ของผู้เสียหายไปขาย ทั้งตามบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายซึ่งจำเลยเบิกความยอมรับว่า ได้ทำไว้กับผู้เสียหายก็มีข้อความระบุว่า จำเลยได้เอากระบะท้าย กะทะล้อพร้อมยางรถยนต์ทั้งสี่ล้อ รวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบอื่น ๆ ของรถยนต์ของผู้เสียหายไปจำหน่าย ซึ่งแม้จะฟังตามข้ออ้างของจำเลยว่า ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าซ่อมรถให้แก่จำเลย 14,000 บาท แล้วไม่ได้ชำระอีกก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิถอดเอาอะไหล่และเครื่องเสียงรถยนต์ของผู้เสียหายไปให้บุคคลใด ๆ เอาไปขายหรือเอาไปซ่อมรถยนต์คันอื่น ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุที่ผู้เสียหายไม่ชำระเงินให้แก่จำเลยอีกเพราะจำเลยถอดอะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ของผู้เสียหายออกและไม่ยอมซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงให้จำเลยนำเครื่องยนต์พร้อมตัวถังรถกลับมาใส่คืนและประกอบให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อจะนำรถกลับไป โดยยอมให้ถือว่า เป็นการหักกลบลบหนี้กับเงินที่ผู้เสียหายจ่ายให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่จัดการให้ คำเบิกความของผู้เสียหายน่าเชื่อถือ เพราะไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จำเลยได้แต่ถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ออกไปจนหมดแล้วนำไปให้แก่บุคคลอื่น เอาไปขายและเอาไปซ่อมรถยนต์คันอื่นเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 134,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายภายในกำหนดระยะเวลา 2 เดือน ตามบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหาย แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ยอมชดใช้ให้โดยอ้างว่ายังขายที่ดินไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเอาอะไหล่และเครื่องเสียงของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แต่เห็นว่ารถยนต์ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยซ่อมได้อยู่กับจำเลยมานานถึง 1 ปีเศษ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยยึดถือครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ การที่จำเลยถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ให้บุคคลอื่นหรือนำไปขาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334, 357 เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 115,800 บาท แก่ผู้เสียหาย.

Share