คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5835/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 2 ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความในชั้นพิจารณาของผู้เสียหายที่ 2 ว่า ตอนไปดูตัวคนร้าย เจ้าพนักงานตำรวจพาคนร้ายออกมาคนเดียวและให้ผู้เสียหายที่ 2 ชี้ตัว เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าคนนี้แหละที่แทงผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นคนร้ายหรือไม่ แต่ก็ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเป็นคนร้ายและเบิกความต่อไปอีกว่า ผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยแล้วคลับคล้ายคลับคลา แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 1 บอกว่าใช่ผู้เสียหายที่ 2 ก็บอกว่าใช่ด้วยเมื่อคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนเช่นนี้ หากพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานเบิกความบ่ายเบี่ยงข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลยแล้ว คำเบิกความในชั้นพิจารณาย่อมมีน้ำหนักที่จะรับฟังมากกว่าเพราะคำเบิกความชั้นสอบสวนหาได้ผ่านกระบวนการถามค้านแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83, 288

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีนายประจิมพร ศรีชู ผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานกับผู้เสียหายที่ 1 กำลังเดินมาที่จอดรถโดยพยานเดินนำหน้าส่วนผู้เสียหายที่ 1 เดินตามหลัง ขณะนั้นมีเสียงหวีดร้องของผู้หญิงดังมาจากข้างหลัง พยานหันไปดูเห็นผู้เสียหายที่ 1 มีโลหิตไหลที่ด้านหลัง พยานจึงเข้าไปช่วยจับแขนผู้เสียหายที่ 1 ไว้ ทันใดนั้นพยานก็ถูกแทงที่บริเวณสะบักด้านขวา 1 ครั้ง จากนั้นมีกลุ่มวัยรุ่น 4 ถึง 8 คน วิ่งข้ามถนนไป แต่จากคำประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าว พยานยืนยันว่า ตอนเกิดเหตุไม่เห็นคนแทง และไม่แน่ใจว่า จำเลยจะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นหรือไม่ ทั้งยังเบิกความยืนยันต่อไปอีกว่า พยานเคยไปดูตัวคนร้ายที่สถานีตำรวจ ปรากฏว่าคนร้ายที่เจ้าพนักงานตำรวจจับมาเป็นวัยรุ่นผมยาว แต่พยานไม่แน่ใจว่าคนร้ายคนดังกล่าวจะมีอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่วิ่งข้ามถนนไปหรือไม่ และว่าคนร้ายที่ใช้มีดแทงพยานน่าจะไม่ใช่จำเลยนี้ เนื่องจากคนร้ายไว้ผมยาวและมีหนวดจะเห็นได้ว่าประจักษ์พยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยเป็นคนร้าย แม้โจทก์จะมีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานปากนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.2 มาเป็นพยานเอกสารยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 2 ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายก็ตาม ในข้อนี้ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ว่าตอนไปดูตัวคนร้ายเจ้าพนักงานตำรวจพาคนร้ายออกมาคนเดียวและให้ผู้เสียหายที่ 2 ชี้ตัว เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าคนนี้แหละที่แทงผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นคนร้ายหรือไม่ แต่ก็ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเป็นคนร้ายและเบิกความต่อไปอีกว่า ผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยแล้วคลับคล้ายคลับคลาแต่เมื่อผู้เสียหายที่ 1 บอกว่าใช่ผู้เสียหายที่ 2 ก็บอกว่าใช่ด้วย เห็นว่าเมื่อคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนเช่นนี้ หากพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานเบิกความบ่ายเบี่ยงข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลยแล้ว คำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาย่อมมีน้ำหนักที่จะรับฟังมากกว่าเพราะคำเบิกความในชั้นสอบสวนหาได้ผ่านกระบวนการถามค้านแต่อย่างใดไม่ โดยเฉพาะโจทก์ก็ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันในเรื่องนี้สำหรับบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.1 ที่ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพนั้นก็มีข้อพิรุธ กล่าวคือจ่าสิบตำรวจสมจิตร์ แก้วสีทอง เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม จำเลยเบิกความว่าพยานเขียนบันทึกการจับกุมในบริเวณที่จับกุม แต่บันทึกการจับกุมกลับระบุว่าเขียนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรัง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างกัน ส่วนที่ว่าจำเลยให้การรับสารภาพนั้น ก็ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยรับสารภาพว่าอย่างไร สรุปแล้วพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมา ยังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share