คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5833/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยกำหนดค่าทดแทนเฉพาะที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน 180,000 บาท ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อกระทรวงมหาดไทยจำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยมีคำวินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีก 120,000 บาท ซึ่งยังไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามสภาพและที่ตั้งของที่ดินการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ดังนั้นเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 โจทก์จึงต้องบรรยายว่าค่าทดแทนที่ตนควรได้รับชำระมีจำนวนเท่าใด และคำขอท้ายฟ้องต้องเป็นเรื่องให้บังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์เห็นว่าตนเองพึงได้รับทั้งเพียงแต่ขอให้จำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามบทกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเท่านั้น จึงขาดสาระสำคัญของการฟ้องคดีตามบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ไม่มีทางที่จะพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดได้ และแม้โจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่าการที่จำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้มีคำขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุดังกล่าว คำฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยและผู้เกี่ยวข้องในฐานะเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ได้เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 87232ถึง 87234 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 60 ตารางวา ถูกเวนคืนทั้งหมดพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างคือบางส่วนของอาคารและรั้วคอนกรีตบล็อกเพื่อสร้างทางด่วนสายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนเฉพาะที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 60 ตารางวา เพียงตารางวาละ 3,000 บาทเป็นเงิน 180,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับการประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(3) โดยมิได้คำนึงถึงมาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1)(2)(4) และ (5) ต่อมาจำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์ เป็นเงิน120,000 บาท ซึ่งรวมกับของเดิมเป็นเงิน 300,000 บาท หรือคิดเป็นตารางวาละ 5,000 บาท ซึ่งก็มิได้เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ตามสภาพและที่ตั้งของที่ดิน ที่จะให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ในฐานะผู้ถูกเวนคืนและแก่สังคม ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 21 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในเรื่องสิทธิเรียกร้องและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามมาตรา 422แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่งและวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
ชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยกระทำการส่วนใดบ้างอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ ละเมิดอย่างไร ไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 อย่างไร และก่อให้เกิดความเสียหายอะไรแก่โจทก์ ทั้งคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฎิบัติการใดต่อโจทก์ เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ให้ยกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายได้ความว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยกำหนดค่าทดแทนเฉพาะที่ดินที่ถูกเวนคืนรวม 3 โฉนด เป็นจำนวนเนื้อที่ 60 ตารางวาตารางวาละ 3,000 บาทเป็นเงิน 180,000 บาท ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยมีคำวินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีก 120,000 บาทโดยกำหนดให้ตารางวาละ5,000 บาท ซึ่งค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับตามที่จำเลยกำหนดเพิ่มแล้วดังกล่าวยังไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามสภาพและที่ตั้งของที่ดิน การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายด้วย ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เห็นว่า การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี และเมื่อมีการนำคดีดังกล่าวมาฟ้องมาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติต่อไปว่าในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำ ดังนี้ โดยนัยแห่งบทบัญญัติ ดังกล่าว แสดงว่าการฟ้องคดีตามที่มาตรา 26 วรรคแรกบัญญัติไว้เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลบังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนให้ชำระค่าทดแทนแก่ผู้เป็นโจทก์เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยเพราะมิฉะนั้นมาตรา 26 วรรคสาม คงจะไม่บัญญัติถึงดอกเบี้ยของค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยให้ได้รับชำระเพิ่ม ผู้เป็นโจทก์จึงต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยว่าค่าทดแทนที่ตนควรได้รับชำระมีจำนวนเท่าใดและคำขอท้ายฟ้องต้องเป็นเรื่องให้บังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัย คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายถึงจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์เห็นว่าตนเองพึงได้รับแต่ประการใดไม่ ทั้งคำขอท้ายฟ้องก็เพียงแต่ขอให้จำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามบทกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเท่านั้น คำฟ้องขอโจทก์จึงขาดสาระสำคัญของการฟ้องคดีตามบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่มีทางที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดได้ และแม้โจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่าการที่จำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้มีคำขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และให้ยกฟ้องจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share