คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับจังหวัดเพื่อขุดลอกหนองน้ำตามสัญญาจ้าง ต่อมาจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้รับช่วงงานขุดลอกหนองน้ำดังกล่าว โจทก์กับ จำเลยที่ 1 จึงตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันรับงานนั้นเพื่อ ประสงค์จะแบ่งกำไรกัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ ดำเนินงาน งานที่รับช่วงมีมูลค่าประมาณ 3,100,000 บาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนงานงวดสุดท้ายประมาณ 1,300,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 4 รับทำแทน และโจทก์ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่มูลเหตุเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าหุ้นกันรับ ช่วงงานขุดลอกหนองน้ำต่อจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มอบให้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการดำเนินการขุดลอกหนองน้ำ จำเลยที่ 1 ทำงานแล้วไม่ยอมแบ่งเงินให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วนอยู่ครึ่งหนึ่ง กรณีระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำผิดหน้าที่ ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์โดยทุจริต แต่เป็นเรื่อง ผิดสัญญาทางแพ่งเรื่องหุ้นส่วนเท่านั้น คดีของโจทก์ย่อม ไม่มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจเป็นตัวการ ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนรับจ้างขุดลอกหนองน้ำเพื่อแบ่งกำไรกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2538 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ขุดลอกหนองน้ำ เป็นเงินค่าจ้าง 3,182,400 บาทโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างและตกลงมอบหมายให้จำเลยที่ 1เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 1 ขุดลอกหนองน้ำให้เป็นไปตามสัญญา ห้างฯ ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็จะมีรายได้เป็นเงิน 3,182,400 บาท และจะได้แบ่งกำไรกันอันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ขุดลอกหนองน้ำตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2538 จนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2538จำเลยที่ 1 ก็มีคำสั่งให้โจทก์หยุดการขุดลอกหนองน้ำชั่วคราวระหว่างขุดลอกหนองน้ำจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินค่าจ้างบางส่วนจากจำเลยที่ 2 แต่ไม่ได้นำมาแบ่งกัน นับถึงวันที่จำเลยที่ 1สั่งให้หยุดพัก จำเลยที่ 2 ยังค้างค่าจ้างโจทก์และจำเลยที่ 1อยู่ประมาณ 1,300,000 บาท ซึ่งจะจ่ายให้เมื่อจำเลยที่ 1ขุดเสร็จ จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือเมื่อระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2538วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิตามสัญญารับจ้างขุดลอกหนองน้ำส่วนที่เหลือเป็นเงินประมาณ 1,300,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 4 เพื่อแลกกับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจากจำเลยที่ 4 อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยโดยทุจริตซึ่งจำเลยที่ 4ก็ได้รับโอนงานดังกล่าวโดยให้ประโยชน์เป็นเงินตอบแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยินยอมให้มีการโอนสิทธิตามสัญญาขุดลอกหนองน้ำดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากงานขุดลอกหนองน้ำส่วนที่เหลือขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับจังหวัดมหาสารคามเพื่อขุดลอกหนองน้ำบ้านศรีสุขตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 แล้วจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้รับช่วงงานขุดลอกหนองน้ำดังกล่าว โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันรับงานนั้นเพื่อประสงค์จะแบ่งกำไรกัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการดำเนินงาน งานที่รับช่วงมีมูลค่าประมาณ 3,100,000บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนงานงวดสุดท้ายประมาณ 1,300,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 4 รับทำแทน โจทก์ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 หรือไม่ เห็นว่ามูลเหตุเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าหุ้นกันรับช่วงงานขุดลอกหนองน้ำบ้านศรีสุขต่อจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการดำเนินการขุดลอกหนองน้ำจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วไม่ยอมแบ่งเงินให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วนอยู่ครึ่งหนึ่ง ดังนี้ กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1ทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์โดยทุจริต แต่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเรื่องหุ้นส่วนเท่านั้น คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้
พิพากษายืน

Share